๑. ๑ ความสำคัญและประวัติความเป็นมา
รัสเซียปรากฏขึ้นเป็นรัฐชาติ (state-nation) ครั้งแรกในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๐ ในปี ค.ศ. ๙๘๘ ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียรับเอาศาสนาคริสต์มาเป็นศาสนาประจำชาติโดยมีอาณาเขตของรัฐอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำ ดเนียโปร (Dniepr) มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครนในปัจจุบัน อาณาจักรรัสเซียโบราณเรียกตนเองว่ารุสแห่งเคียฟ (Kievan Rus) โดยเมืองเคียฟเป็นรอยต่อที่สำคัญของเส้นทางการค้าทางเรือที่เชื่อมระหว่างทะเลบอลติกกับทะเลเมดิเตอเรเนียนซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวไวกิ้งจากทะเลบอลติกเป็นผู้บุกเบิกและเชื่อกันว่าชาวไวกิ้งที่มาจากพื้นที่บริเวณที่ชาวสวีเดนเรียกว่ารูสลาเกน (Ruslagen) ในประเทศสวีเดนในปัจจุบัน เป็นผู้รวบรวมชาวรัสเซียที่กระจัดกระจายอยู่ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำดเนียโปร และแม่น้ำสายเล็กสายน้อยสาขาของทะเลบอลติกให้เป็นปึกแผ่นและสร้างเมืองการค้าตามบริเวณลุ่มแม่น้ำจากทะเลบอลติกลงมา เช่น เมืองนอฟกอร็อด (Novgorod) และเมืองพสค็อฟ (Pskov) โดยให้เมืองเคียฟเป็นศูนย์อำนาจของอาณาจักรรุสหรือรุสเซียโบราณ
ศูนย์กลางของอาณาจักรรัสเซียโบราณย้ายจากเมืองเคียฟไปยังเมืองต่าง ๆ ตามความแข็งแกร่งและอำนาจของเจ้าผู้ครองแคว้น โดยในศตวรรษที่ ๑๒ ศูนย์อำนาจของอาณาจักรย้ายไปอยู่ที่เมืองวลาดิมีร์-ซุสดาล (Vladimir-Suzdal) และเมืองนอฟกอร็อดในเวลาต่อมา ก่อนที่จะถูกอนารยชนมองโกล-ตาตาร์เข้ายึดครองเป็นเวลาถึง ๒๕๐ ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๒๓๗ ถึงปี ค.ศ. ๑๔๘๐ และในที่สุดศูนย์กลางของอาณาจักรรัสเซียก็ได้ย้ายจากวลาดิมีร์-ซุสดาลมาอยู่ที่เมืองมอสโกภายหลังที่เจ้าชายอีวานที่ ๓ หรืออีวานมหาราช เจ้าผู้ครองแคว้นมอสโกประกาศปลดปล่อยรัสเซียจากมองโกล-ตาตาร์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. ๑๔๘๐
รัสเซียขยายเขตอาณาของตนออกไปในทุกทิศทุกทางระหว่างศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ เข้ายึดครองอาณาจักรของตาตาร์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโวลก้าและเทือกเขายูราล บุกเข้าแคว้นไซบีเรียจนถึงดินแดนในภาคตะวันออกไกลที่เป็นเขตเก่าภายใต้การระบอบปกครองของมองโกล ในปี ค.ศ. ๑๖๑๓ มิฮาอิล โรมานอฟปราบดาภิเษกขึ้นเป็นซาร์แห่งรัสเซียและสถาปนาราชวงศ์
โรมานอฟขึ้นปกครองรัสเซีย
รัสเซียทำสงครามกับสวีเดนระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๒๑ เพื่อแย่งชิงทางออกสู่ทะเลบอลติกและทำสงครามกับอาณาจักรออโตมันเติร์กระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๑ เพื่อแย่งชิงทางออกสู่ทะเลดำ ทำสงครามกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๘๑๒ เพื่อต่อต้านการเข้ายึดครองของจักรพรรดินโปเลียน ราชวงศ์โรมานอฟปกครองรัสเซียถึงสมัยที่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ถูกโค่นล้มราชบัลลังก์พร้อมการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในรัสเซีย ในระหว่างการปฏิวัติ
สังคมนิยมในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ การเปิดเสรีทางการเมืองของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ รัสเซียภายใต้สหภาพโซเวียตได้สถาปนาระบบประชาธิปไตยในรูปแบบสหพันธรัฐ โดยมีประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน เป็นผู้นำประเทศและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยและจัดตั้งระบบรัฐสภาสมัยใหม่เข้าแทนที่สภาโซเวียตในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากการวางแผนส่วนกลางไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจนประสบความสำเร็จในปัจจุบันพร้อมกับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ สหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน มีที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของทวีปเอเชีย โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ทั้งทวีปเอเชียและยุโรป มีเทือกเขาอูลานเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้ง ๒ ทวีป พื้นที่ ๒ ใน ๓ ของสหพันธรัฐรัสเซียอยู่ในทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อกับประเทศอาเซอร์ไบจาน เบลารุส จีน เอสโตเนีย ฟินแลนด์ คาซัคสถาน เกาหลีเหนือ ลัตเวีย ลิทัวเนีย มองโกเลีย นอร์เวย์ โปแลนด์และยูเครน มีประชากร ๑๔๒.๓ ล้านคน ประกอบด้วยชาวรัสเซีย ร้อยละ ๗๙.๘ นจอกนั้นเป็นชาวตาตาร์ ยูเครน บาชคีร์ เบลารุส เยรมัน ยิว อาร์มาเนีย และคาซัด ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย ร้อยละ ๙๐ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๖ คริสตศาสนานิกายคาธอลิก ร้อยละ ๑.๘ และพุทธศาสนานิกายมหายาน ร้อยละ ๐.๖ หรือราว ๓๐๐,๐๐๐ คน และมีหมู่บ้านหรือชุมชนชาวพุทธ ๔๓๒ ชุมชน
รายงานฉบับนี้จึงต้องการนำเสนอภาพรวมของพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย ว่ามีพื้นฐานพระพุทธศาสนาอย่างไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และมั่นคงเพียงไร วิถีชีวิตคนรัสเซียส่วนไหนที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ในชีวิตประจำวัน จึงได้รวบรวมรายงานฉบับนี้ขึ้น ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.๒ วัตถุประสงค์ของรายงานฉบับนี้
๑.๒.๑ เพื่อศึกษาสภาพพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๑.๒.๒ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนประเทศรัสเซีย
๑.๓ ปัญหาที่ต้องการทราบ
๑.๓.๑ พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย คือ อะไร มีลักษณะแบบไหน สภาพของพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซียเป็นอย่างไร
๑.๓.๒ วิถีชีวิตและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซียเป็นอย่างไร
๑.๔ คำจำกัดความของศัพท์ที่ใช้ในการรายงาน
พระพุทธศาสนา หมายถึง พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและพระพุทธศาสนามหายาน
๑.๕ ขอบเขตการรายงานฉบับนี้
การศึกษาและทำรายงานครั้งนี้ เป็นการศึกษาทางเอกสาร (Documentary research) ผู้ทำรายงานมุ่งศึกษาสภาพพระพุทธศาสนาและพัฒนาการพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย ในแง่เกี่ยวกับการเผยแผ่และวิถีชีวิต ตามสภาพการในดินแดนประเทศรัสเซีย เป็นหลัก
การเขียนรายงานครั้งนี้ การอ้างอิงเนื้อหา ข้อความเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในรายงานนี้ใช้งานที่เกี่ยวข้องของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา และจากเอกสารงานนิพนธ์ ตลอดจนถึงงานแปลเอกสาร หนังสือแปล และจากข้อมูลของนักวิชาการต่าง ๆ ที่ได้เป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย เพื่อประกอบการเขียนรายงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
๑.๖ วิธีการดำเนินการเขียนรายงาน
รายงานนี้ มีขั้นตอนในการเขียนและศึกษา ดังต่อไปนี้
๑.๖.๑ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยผู้ทำรายงานได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร, หนังสือ, การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของปัญหา และประเด็นที่ต้องการทราบจากแหล่งข้อมูลดังนี้
(๑) ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ศึกษาเนื้อหา เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในในประเทศรัสเซีย ในประเด็นต่างๆตามวัตถุประสงค์จากหนังสือภาษาอังกฤษที่เขียนถึงพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย เป็นกรอบในการพิจารณาและเป็นข้อมูลปฐมภูมิ
(๒) ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อรายงานนี้ คือ วิทยานิพนธ์ หนังสือ วารสาร บทความ และเอกสารต่าง ๆ
๑.๖.๒ การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะนำข้อมูลทีได้จากการรวบรวมเอกสาร วารสาร หนังสือ และงานวิจัยต่าง ๆ นั้น มาวิเคราะห์สภาพการพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซียในประเด็นต่างๆ ที่ผู้เขียนรายงานสนใจเป็นหลัก
๑.๖.๓ สรุป การสรุปเป็นผลการรายงานในรูปแบบของการพรรณนา (Description) ต่อไป
๑.๗.๗ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑.๗.๑ ทำให้รู้และเข้าใจสภาพพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๑.๗.๒ ทำให้รู้และเข้าใจวิถีชีวิตและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย
บริบทและสภาพการณ์พระพุทธศาสนาในรัสเซีย
๒.๑ ยุคแห่งการตั้งอาณาจักร
ชาวสลาฟตะวันออกเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาตั้งถื่นฐานในรัสเซีย บริเวณแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำวอลกาทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือชนชาติสแกนดิเนเวียและไวกิ้งที่รู้จักในนามวาแรนเจียน ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเนวา และทะเลสาบลาโดกา ทำการติดต่อค้าขายกับชาวสลาฟ แต่แล้วในปี ค.ศ. ๘๘๐ กษัตริย์แห่งวาแรนเจียนก็เข้ามายึดเมืองเคียฟของชาวสลาฟ และได้ตั้งเคียฟเป็นเมืองหลวง โดยผนวกดินแดนเหนือและใต้เข้าด้วยกันแล้วขนานนามว่า เคียฟรุส (Kievan Rus')
ในปี ค.ศ. ๙๗๘ เจ้าชายวลาดีมีร์ โมโนมัค ขึ้นครองราชย์และทรงนำศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์เข้าสู่รัสเซีย ซึ่งต่อมามีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศ ในช่วงศตวรรษที่ ๑๑ เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสต์จักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๑๔๗ ว่าเจ้าชายยูริ ดอลโกรูกี มกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้หรือเครมลินขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมแม่น้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า มอสโก
๒.๒ อาณาจักรมัสโควี
ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ กองทัพมองโกล นำโดยบาตูข่าน เข้ารุกรานรัสเซีย และยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัสเซียก็ถูกตัดจากโลกภายนอก ถูกควบคุมทางการเมือง การปกครอง และต้องจ่ายภาษีให้กับมองโกล กษัตริย์และพระราชาคณะจึงย้ายศูนย์กลางอำนาจมาทางตอนเหนือ
ในปี 1328 พระเจ้าอีวานที่ ๑ ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีฉายาว่า lvan kalita หรืออีวานถุงเงิน เนื่องจากทรงเก็บส่วยและเครื่องบรรณาการให้มองโกล และในยุคนี้เองที่กษัตริย์ได้ย้ายที่ประทับมาที่มอสโก ต่อมาในยุคของพระเจ้าอีวานที่ ๒ (ค.ศ. ๑๓๕๓-๑๓๕๙) มองโกลเริ่มเสื่อมอำนาจ เจ้าชายดมีตรี โอรสแห่งพระเจ้าอีวานที่ 2 ทรงขับไล่มองโกลได้สำเร็จในการรบที่คูลีโคโว บนฝั่งแม่น้าดอน ในปี ๑๓๘๐ พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดมีตรี ดอนสกอย (ดมีตรีแห่งแม่น้ำดอน) ได้รวมเมืองวลาดีมีร์และซุลดัล อันเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมัสโควี และยังได้บูรณะเครมลินเป็นกำแพงหินขาวแทนไม้โอ๊ก มอสโกจึงมีอีกชื่อเรียกว่า เมืองกำแพงหินขาวในยุคนั้น แต่เพียงไม่นานพวกตาตาร์ก็กลับมาทำลายเครมลินจนพินาศ รัสเซียต้องเป็นเมืองขึ้นของตาตาร์อีกครั้งหนึ่งในปี ๑๓๘๒
๒.๓ จักรวรรดิรัสเซีย
ค.ศ. ๑๖๑๓ -๑๙๑๗ พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช (ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ ๑๐ ชันษา พร้อมกับพระเจ้าอีวานที่ ๕ (เป็นกษัตริย์บัลลังก์คู่) จนในปี ๑๖๙๖ เมื่อพระเจ้าอีวานที่ ๕ สิ้นพระชนม์ พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช จึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่ โดยในปี ค.ศ. ๑๗๑๒ ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก ถัดจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชยังมีซาร์และซารีนาอีกหลายพระองค์ที่สืบราชบัลลังก์ ทว่าผู้ที่สร้างความเจริญเฟื่องฟูให้กับรัสเซียสูงสุด ได้แก่ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ ๒ (ค.ศ. ๑๗๖๒ - ๑๗๙๖) พระนางได้รับการยกย่องให้เป็นราชินี ด้วยทรงเชี่ยวชาญด้านการปกครองอย่างมาก กระนั้นพระนางก็มีชื่อเสียงด้านลบด้วยพระนางมีคู่เสน่หามากมาย
ผู้สืบราชวงศ์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าพอลล์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๗๙๖ - ๑๘๐๑) พระราชโอรสของพระนางเจ้าแคทเทอรีน ทรงครองราชย์อยู่เพียงระยะสั้น จากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (๑๘๐๑ - ๑๘๒๕) พระราชโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อ ในปี ๑๘๑๒ ทรงทำศึกชนะจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส แต่แล้วในช่วงปลายรัชกาล เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบบรัฐสภา ปี ๑๘๒๕ เกิดกบฏต่อต้านราชวงศ์ขึ้นในเดือนธันวาคม เรียก กบฏธันวาคม (Decembrist Movement) แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๒๕ - ๑๘๕๕) ก็ทรงปราบกลุ่มผู้ต่อต้านไว้ได้ พอมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (ค.ศ. ๑๘๕๕ - ๑๘๘๑) พระองค์ทรงมีฉายาว่า Tzar Liberator (ซาร์ผู้ปลดปล่อย) เนื่องจากพระองค์ทรงปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Serf) หลายล้านคนให้พ้นจากการเป็นทาส แต่พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ๑๘๘๑ ทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์สถานที่สร้างอุทิศแด่พระองค์ ณ จุดที่ถูกลอบปลงพระชนม์ ซาร์องค์ต่อมาคือ อเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (ค.ศ. ๑๘๘๑ - ๑๘๙๔) จนถึงซาร์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ (๑๘๙๔ - ๑๙๑๗) ความเหลื่อมล้ำกันทางชนชั้น และความยากจน ก่อให้เกิดการปฏิวัติเป็นครั้งแรกโดนกรรมการชาวนาใน ปี ๑๙๐๕ ซึ่งมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า วันอาทิตย์เลือด Bloody Sunday และสุดท้ายคือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ กระนั้นชนวนที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟและระบอบซาร์ถึงกาลอวสานก็มีปัจจัยอื่นเช่นกัน
๒.๔ สมัยสหภาพโซเวียต
การตัดสินใจเขาร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ของซาร์นิโคลัสที่ ๒ นั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตของทหารและชาวรัสเซียนับล้านที่เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ การจลาจลเกิดขึ้นทั่วเมือง ในที่สุด ปี ๑๙๑๗ จึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบซาร์ พระเจ้านิโคลัสที่ ๒ สละราชสมบัติ มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกิจเคอเรนสกีขึ้นบริหารประเทศ แต่พรรคบอลเชวิค (Bolshevik) นำโดยวลาดีมีร์ เลนินก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งประกาศให้ประเทศเป็น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Repubilcs หรือ USSR)
ปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ย้ายเมืองหลวงและฐานอำนาจกลับสู่มอสโก กระนั้นก็ยังมีผู้ไม่พอใจกับสภาพแร้นแค้น การขาดสิทธิเสรีภาพ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เลนินถึงแก่อสัญกรรมในปี ๑๙๒๔ โจเซฟ สตาลิน (๑๙๒๔- ๑๙๕๓) ขึ้นบริหารประเทศแทนด้วยความเผด็จการ และกวาดล้างทุกคนผู้ที่มีความคิดต่อต้าน เขาเปิดการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาความอดอยาก ที่เรื้อรังมานานก็ยากเกินเยียวยา และยิ่งเลวร้ายเมื่อฮิตเลอร์สั่งล้อมมอสโกไว้ โดยเฉพาะที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกปิดล้อมไว้นานถึง ๙๐๐ วันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ชาวรัสเซียเรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War กระนั้นสตาลินก็มีบทบาทในการพิชิตนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๔๑ - ๑๙๔๕) นี้ไว้ได้
ปี ค.ศ. ๑๙๕๕ นีกีตา ครุชชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำโดยมีแนวคิดในการบริหารประเทศที่เน้นการอยู่ร่วมกัน มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนผ่อนคลายความเข้มงวดให้น้อยกว่าสมัยสตาลิน รวมถึงเปิดเครมลินเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย ปี ๑๙๖๔ ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน เบรจเนฟแผ่อิทธิพลไปถึงจีน คิวบา และอัฟกานิสถาน เพิ่มความเครียดไปทั่วโลก เขาจึงนำนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ การผ่อนคลายความตึงเครียด มาใช้โดยปี ๑๙๘๐ มอสโกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๒๒
ปี ค.ศ. ๑๙๘๕ มิฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ เขาเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เรียกว่า เปเรสตรอยกา (Perestroyka) โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาฝีมือแรงงานรวมถึงเสนอนโยบายเปิดกว้างกลาสนอสต์ (Glasnost) คือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน มีการติดต่อด้านการค้ากับตะวันตก รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกและอัฟกานิสถานและยังได้เข้าร่วมกับองค์การนาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์เป็นบุรุษแห่งศตวรรษ (Man of the Decade) กระนั้นปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และความล้าหลังทางการผลิตที่สั่งสมมานานก็ทำให้นโยบายเปเรสตรอยกาล้มเหลว ความนิยมในกอร์บาชอฟเริ่มตกลง ต่อมาเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม ๑๙๙๑ โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดเสรี แต่บอริส เยลต์ซิน ก็สามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ กอร์บาชอฟจึงสิ้นคะแนนนิยมอย่างแท้จริง เขาประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้ามหาชน พร้อมด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยลต์ชิน สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่างๆ ทั้ง ๑๕ สาธารณรัฐแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งสาธารณรัฐรัสเซีย (Russian SFSR) ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation)
๒.๕ พระพุทธศาสนาในสมัยปฏิวัติรัสเซีย
การปฏิวัติรัสเซียได้นำมาซึ่งการปกครองระบอบสังคมนิยมที่มีวลาดิมีร์ เลนินเป็นผู้นำ และสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพโซเวียตรัสเซียขึ้นระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๒ ซึ่งต่อมาเป็นสหภาพโซเวียต ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๙๑ หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ในดินแดนอาณานิคมของรัสเซียทั้งในเขตคอเคซัสและเอเชียกลางได้เข้ายึดอำนาจจนสำเร็จ ในปี ค.ศ. ๙๓๘ ในขณะนั้นมีวัดพระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐบูรยาท ๔๗ วัด พร้อมพระสงฆ์ราว ๑๐,๐๐๐ รูป และ ๒๗ วัด ในสาธารณรัฐคาลมิกซ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ราว ๓,๐๐๐ รูป นอกนั้นยังมีวัดในสาธารณรัฐตูวา ๑๙ วัด พร้อมพระสงฆ์ราว ๓๐,๐๐๐ รูป การปฏิวัติรัสเซียในครั้งนั้นส่งผลให้วัดพระพุทธศาสนาทั้งหมดถูกปิดลง พระสงฆ์ส่วนใหญ่จะถูกจับเนรเทศ บ้างก็ถูกฆ่า พระธรรมคัมภีร์ พระพุทธรูป และวัดต่าง ๆ ล้วนถูกเผาทำลายสิ้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง บรรดาผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายื่นคำร้องให้มีการรื้อฟื้นการสอนพระพุทธศาสนา มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปทำบุญปฏิบัติธรรมในวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐบูรยาท ในปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้รับอนุญาตให้เปิดวัดหลาแง เช่นเดียวกันกับวัดอากินสะกะในสาธารณรัฐไอวอลก้า (Ivoga) ใกล้กับสาธารณรัฐ อูลัน-อูเด (Ulan-Ude) วัดในสาธารณรัฐไอโวลก้าได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ที่ทำการของปัณทิโต แขมบา ลามะ (Pandito Khamba Lama) หัวหน้าศูนย์กลางฝ่ายบริหารทางจิตวิญญาณของชาวพุทธโซเวียต (CSASB) ค.ศ. ๑๙๕๖ ผู้แทนของพระพุทธศาสนาแห่งสาธารณรัฐบูรยาทได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศเนปาลและอินเดียค.ศ. ๑๙๖๓ เจ. ดี. คอมโบเอพ (J.D. Comboev) ได้รับเลือกเป็น ปัณทิโต แขมบาลามะ (Pandito Khamba Lama) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธบูรยาทกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ของโลก ค.ศ. ๑๙๗๐ สถาบันพุทธศาสตร์ศึกษาได้รับการสถาปนาขึ้นมา ณ วัดแคนดันเต็คชิงลิง (Gandantekchingling Monastery) ในสาธารณรัฐอูลาอันบาอาตาร์ (Ulaanbaatar) แห่งมองโกเลีย และเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญของพระชาวมองโกเลียและรัสเซียค.ศ. ๑๙๗๕ ได้มีการจัดการประชุมชาวพุทธแห่งเอเชียเพื่อสันติภาพขึ้นด้วยความริเริ่มของปัณทิโต แคมบา ลามะ คอมโบเอพ สำนักงานใหญ่ของการประชุมชาวพุทธแห่งเอเชียเพื่อสันติภาพตั้งอยู่ที่เมืองอูลันบาอาตาร์ แห่งมองโกเลียนับตั้งแต่ทศวรรษสุดท้ายของปี ค.ศ. ๑๙๙๐ ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้น วัดหลายแห่งในสาธารณรัฐบูรยาท ทูวา และคาลมิกได้รับการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์ ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. ๑๙๙๔ มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นที่ บัลดัน-ไบรบุน (Baldan- Brsibun) บนพื้นที่รกร้างเดิมของวัดฮิลแคนตูอิสค์ ในสาธารณรัฐบูรยาท และในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ แดมบา อายุสชีพ (Damba Ayusheev) ได้รับเลือกเป็น แคมบา ลามะแห่งศูนย์การบริหารจิตของชาวพุทธโซเวียต ซึ่งมีชื่อย่อว่า CSASB (Central Spiritual Administration of Soviet Buddhists) ต่อมา ปี ค.ศ. ๑๙๙๖ ศูนย์นี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สังฆะแห่งรัสเซีย (Sangha of Russia)
๒.๖ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย
พระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน (Mahayana Buddhism in the traddtion of new tantras) ได้เจริญแพร่หลายไปในรัสเซียระหว่างคริศศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ ในหมู่ชาวบูรยาท (Buryat) คาลมิค (Kalmyka) และอัลตัน-คัน (Altan-qan) มีนิกายเจลุกปะ (School of Gelukpa) ที่พระชาวทิเบตชื่อ ฌอนฮาวะ (Tsonhava) ค.ศ. ๑๓๕๗-๑๔๑๙ เป็นผู้ก่อตั้ง นิกายเจลุกปะเป็นนิกายที่เจริญแพร่หลายมากที่สุดในยุคแรกของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายมหายานในรัสเซีย วัดทางพระพุทธศาสนาวัดแรกชื่อ ฮิลแกนตุส (Hilgantus Temple) ในสาธารณรัฐบูรยาท ซึ่งสร้างขึ้นในทศวรรษที่ ๓๐ ในปี ศ. ๑๗๔๑ จักรพรรดินี อลิซาเบธ เปตรอพวา (Imperator Elizabeth Petrova) แห่งรัสเซีย ได้ยอมรับเอาพระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐบูรยาทเป็นศาสนาประจำชาติแห่งรัสเซียอย่างเป็นทางการ และแต่งตั้งลามะ แดมบา ดารจา ซาแยบ (Lama Damba Darja Zayaev) ให้ดำรงตำแหน่งประมุขทางพระพุทธศาสนาประจำสาธารณรัฐไซบีเรียตะวันออกและสาธารณรัฐซาไบคาล ในปี ค.ศ. ๑๗๖๔
สมัยปลายศตวรรษที่ ๑๙ พระพุทธศาสนาในบูรยาทได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดียิ่ง มีวัดมากกว่า ๔๐ วัดเป็นสถานที่พักอาศัยปฏิบัติธรรมของบรรดาลามะทั้งหลาย ซึ่งในขณะนั้นมีมากกว่า ๑๐,๐๐๐ องค์ และเป็นสถานที่สำหรับสอนภาษาธิเบต ภาษามองโกเลีย และภาษาสันสกฤต นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สอนปรัชญาของพระพุทธศาสนา วิชาการแพทย์ของทิเบตและมองโกเลีย (Tibeto-Mongolian medicine) โหราศาสตร์ (Astrology) และวิชาอื่น ๆ เป็นต้น
๒.๗ พระพุทธศาสนาในรัสเซียที่รับการแพทย์แผนธิเบตเข้ามา
การแพทย์เป็นศาสตร์โบราณที่มีรากมาจากคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่รวมความเป็นศาสตร์ ศิลปะ และปรัชญา ของการดูแลรักษาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
ความเป็นศาสตร์ มีการอธิบายอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผลอยู่บนพื้นฐาน ของการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง จิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อมตามหลักพระพุทธศาสนา
เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์การวินิจฉัยโรคอย่างสร้างสรรค์ อาศัยความหลักแหลม ลุ่มลึก และความเมตตากรุณาของแพทย์ผู้รักษา
แฝงไปด้วยปรัชญา เป็นการผนวกเอาหลักคำสอนที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กฎแห่งกรรม และจริยธรรม
สาเหตุของความเจ็บป่วย เกิดจากร่างกายขาดความสมดุล ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งพฤติกรรมการดำเนินชีวิต สภาพอากาศหรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนธิเบตเชื่อว่าสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยเกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ ซึ่งเกิดอารมณ์อกุศลของความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือความยึดติด ส่งผลต่อความแปรปรวนของธาตุทั้ง ๓ ในร่างกาย
๑. ความโลภ เกิดจากการยึดติด อยากได้ อยากเป็นเจ้าของ เมื่อไม่ได้อย่างที่ปรารถนาก็จะทำให้ธาตุลมในร่างกายปั่นป่วน ส่งผลให้จิตใจซึมเศร้า เครียด กลัวและกังวล ความโลภทำให้เกิดโรคที่กี่ยวกับธาตุลม ๔๒ ชนิด
๒. ความโกรธ เกลียด กระทบกับธาตุไฟในร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานของตับ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและระบบโลหิตไหลเวียนไม่ดี ความโกรธทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับธาตุไฟ ๒๖ ชนิด
๓. ความหลง คือตัวความหลงและจิตใจที่คับแคบ จะทำให้ธาตุดินและน้ำถูกกระทบ ทำให้สมองคิดอะไรไม่ออกและร่างกายไม่กระฉับกระเฉง ความหลงทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับดินและน้ำ ๓๓ ชนิด
๒.๗.๑ วิธีการวินิจฉัยโรค
๑. การสังเกต คือการตรวจเช็คผิวพรรณของคนไข้ เล็บมือ เล็บเท้า เสมหะ อุจจาระ และสภาพร่างกายอื่นๆ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ สภาพของลิ้นและปัสสาวะ
๒. การสัมผัสโดยการตรวจชีพจร ถือว่าเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดในทางการแพทย์แผนธิเบต
๓. การซักถาม เป็นการหาสาเหตุของการเกิดโรค หาจุดที่เกิดความเจ็บป่วยหรือบกพร่อง และศึกษาถึงอาการหรือสิ่งบ่งชี้ความผิดปกติในร่างกายและจิตใจของคนไข้
๒.๗.๒ ก่อนการวินิฉัยโรคแพทย์ธิเบตจะแนะนำให้คนไข้ เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ 1 วัน ดังนี้
๑. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาแก่ๆ กาแฟ น้ำผลไม้ที่มีสีเข้มและนมเปรี้ยวในปริมาณมากกว่าปกติ เพราะการบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้จะมีผลต่อสีของปัสสาวะ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น
๒. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
๓. งดดื่มน้ำหลังเที่ยงคืน
๔. งดอาหารหมักดอง
๕. ห้ามนอนดึกกว่าปกติ
๖. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในคืนก่อนที่จะรับการตรวจสุขภาพ
๗. ไม่ควรหักโหม หรือทำสิ่งใดมากเกินไปก่อนการตรวจสุขภาพ
๘. ไม่ควรทำงานใช้แรงมากจนเกินไป จนเสียเหงื่อและอ่อนเพลีย
๙. การตรวจปัสสาวะใช้น้ำปัสสาวะครั้งแรกในช่วงเช้าก่อนกินอาหารโดยใช้ครึ่งหลังของปัสสาวะ
๑๐. หลังจากปัสสาวะแล้วสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ
แต่ต้องก่อนการตรวจสุขภาพประมาณ 30 นาที
๒.๗.๓ การรักษาของการแพทย์แผนธิเบต
ปรับเปลี่ยนลักษณะการดำรงชีวิต
การแพทย์แผนธิเบตเชื่อว่า การล้มป่วยกระทันหัน มีสาเหตุมาจากวิธีการรับประทานอาหารที่ไม่ให้ประโยชน์กับร่างกายหรือการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม วิธีการรักษาขั้นต้นจะยังไม่ใช้ตัวยาใดๆ แต่เริ่มจากการปรับเปลี่ยนการบริโภคและการดำรงชีวิต หากวิธีนี้ไม่ได้ผล ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการใช้ยาสมุนไพรรักษา
การใช้ยาสมุนไพร
ยาสมุนไพรแต่ละตัวจะประกอบด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งมาจากส่วนของดอกผล กิ่ง ใบ และราก ผู้เก็บจะต้องเก็บให้ถูกต้องตามฤดูกาลเพราะพืชแต่ละชนิดให้ฤทธิ์ต่างกัน ยาสมุนไพรของธิเบต จะเป็นยาที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็งก่อนโดยเฉพาะระบบย่อยเพื่อให้อาหารที่เรากินเข้าไปย่อยได้อย่างสมบรูณ์และดูดซึมได้ดีซึ่งจะส่งผลต่อระบบเลือด ถ้าระบบเลือดดีสุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้น และจะมีตัวยาที่รักษาเฉพาะโรคให้หายป่วย
จุดแข็งของการแพทย์แผนธิเบต คือ รักษาโรคเรื้อรังได้ดี เช่น โรคเรื้อรังที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน โรคตับ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคเครียด และโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น และที่สำคัญสูงสุดคือ ต้องเท่าทันความโลภ โกรธ หลง โดยต้องคิดก่อนกิน คิดก่อนทำ คิดก่อนพูด คิดก่อนต้องการ และยิ้มให้ตัวเองอย่างน้อยวันละสามครั้งหลังอาหาร เพียงแค่นี้คุณก็ไม่ป่วยแล้ว
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าวิถีการดำเนินชีวิตชาวรัสเซียได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาแบบธิเบตเป็นพื้นฐานสำคัญ
พระพุทธศาสนาเถรวาทในรัสเซีย
หากเอ่ยถึงอดีตมหาอำนาจแห่งโลกสังคมนิยมอย่างสหภาพรัสเซียกับพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ในเมื่อประเทศสังคมนิยมไม่มีนโยบายให้ประชาชนนับถือศาสนา เพราะถือว่าเป็น ‘ยาพิษ’ ที่คอยบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการ ปกครองในระบอบสังคมนิยม และบ่อนทำลายความเจริญทางวัฒนธรรม
เมื่อประเทศรัสเซียถึงคราวล่มสลาย ทำให้เกิดประเทศใหม่ๆ มากมาย และในช่วงนี้เองที่รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียเปิดโอกาสให้ชนในชาติสามารถนับถือศาสนาได้อย่างอิสระ ถึงขนาดประกาศในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นเท่ากับเป็นการทำให้ศาสนาต่างๆ ได้มีโอกาสเผยแผ่ศาสนาของตนเอง
พระไทยรูปแรกในรัสเซีย ….เผยเหตุเลือกดินแดนแห่งนี้เพราะรัสเซียเป็นดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้า ระบุปัจจุบันชนชั้นนำ-คนมีการศึกษาของรัสเซียหันมาศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น เผยเหตุเพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาสามารถพิสูจน์ได้จริง …..ล่าสุดเตรียมแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษารัสเซียเพื่อดึงให้คนพื้นถิ่นหันมาศึกษาเพิ่มขึ้น
การมีโอกาสเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายเถรวาทในรัสเซีย ของพระ รศ.ดร.ชาตรี ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสทาง ‘ธรรม’ ให้กับประชาชนชาวรัสเซียอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีชาวรัสเซียจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมพุทธวิหารฯ บอกว่า..... ปัจจุบันมีชาวรัสเซียจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะชาวรัสเซียส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูงมาก และยังสนใจศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้า แต่เมื่อการนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมไม่ได้ให้คำตอบในหลายๆ คำถามที่เกิดขึ้นในจิตใจของเขา ทำให้เขาเปลี่ยนมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา
“สำหรับชาวรัสเซียที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่จะต้องการหาคำตอบอันเนื่องมาจากการเกิดทุกข์ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยความเชื่อ แม้จะอ้อนวอนพระเจ้า ท่านก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นเขาก็หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงจิตวิทยาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้จริง ทำให้คนรัสเซียที่มีการศึกษาจำนวนมากหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น
ระยะแรกไม่ได้เปลี่ยนมานับถือ เพียงแต่สนใจที่จะเข้ามาศึกษา โดยแบ่งความสนใจออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นชาวรัสเซียที่มีเชื้อสายกอร์เกเชียน สนใจพระพุทธศาสนา แบบปรัชญา แบบวิทยาศาสตร์ ก็คือคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นมีเหตุมีผลเข้าได้กับความคิด การค้นคว้าทางวิทยาศาตร์แบบตะวันตก อีกส่วนหนึ่งก็หันมาสนใจพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะการปฏิบัติ เช่น การฝึกโยคะ การฝึกสมาธินั้นทำให้จิตใจสงบ และกลุ่มสุดท้ายก็คือกลุ่มที่สนใจทั้งปรัชญาและการปฏิบัติ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ประมาณ ๖๐ – ๗๐ % ที่ได้มีการศึกษาและปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ก็จะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา”
พระ รศ.ดร.ชาตรี ...อธิบายต่อว่า ตอนนี้เฉพาะในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก กรุงมอสโคว์ มีคนรัสเซียที่สนใจพระพุทธศาสนาและปฏิบัติศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคนจากประชากรที่มีอยู่ในทั้งสองเมือง ๑๒ ล้านคน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าพระพุทธศาสนาในรัสเซียได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นเป็นพระพุทธศาสนาในสายวัชรยาน แต่สายเถรวาทยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ย้อนหลังไปสี่ปีกลับมีคนรัสเซียที่นับถือศาสนาพุทธสายวัชรยาน เปลี่ยนมาสนใจพระพุทธศาสนาสายเถรวาทมากขึ้นปีละหลายหมื่นคน ซึ่งแต่ละปีก็จะมีคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทประมาณ ๗๐ % ถือว่ามีจำนวนมากทีเดียว
“ตอนนี้ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปประเทศรัสเซีย จะเห็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หนังสือฝึกสมาธิ หนังสือพุทธปรัชญา หนังสือที่เป็นพระสูตรซึ่งแปลเป็นภาษารัสเซีย วางขายอย่างมากมาย ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดีว่า ปัจจุบันคนรัสเซียเขาสนใจพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน”
พระไทย วัดไทย ที่เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก
พระพุทธศาสนา และวัดเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ สำหรับประเทศรัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียต เดินแดนที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์นาน ๗๖ ปี (ค.ศ.๑๗๑๗ - ๑๙๙๓) นับแต่เปลียนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาสู่ระบบสังคมนิยม การรับรู้ของคนทั่วไปว่ารัสเซียปกครองด้วย “คอมมิวนิสต์” ตามแนวคิดของมาร์กที่ว่า “ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน” (Religion is the Opium of the People ) และเลนิน ก็นำแนวคิดนี้มาใช้ในการปฏิวัติรัสเซีย สตาลินก็นำมาสานตออย่างสุดลิ่ม จึงเป็นเหตุที่ว่ารัสเซียกับศาสนาไม่น่าจะไปด้วยกัน ระบบปกครองดังกล่าวแผ่ไปถึงจีน ลาว เขมร เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็จะมีภาพของศาสนาและการเมืองที่ขัดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเขมร (กัมพูชา) บ้านใกล้เรือนเคียงไทยเรา เมื่อนำระบบคอมมิวนิสต์ไปใช้ปกครองประเทศ ใน พ.ศ. ๒๑๑๘ พระสงฆ์กว่าหกรูปหมื่นทั่วประเทศสึกหายหมดเกลี้ยงประเทศ โบสถ์วิหาร พระพุทธรูปถูกทุบทำลาย ตำราทางศาสนาถูกเผา ตามแต่สติปัญญาของผู้ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์จะนำไปใช้ได้ ส่วนศาสนาอื่นถูกทารุณกรรม ฆ่า และศาสนิกไม่กล้าแม้กระทั่งกระทำพิธีกรรมทางศาสนา
หากมองย้อนกลับในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ก็ต้องบอกว่าพระพุทธศาสนาในรัสเซียเคยมี ยังมี และมีต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องด้วยแผ่นดินที่กว้างใหญ่ของรัสเซียสัมพันธ์กับทวีปยุโรป และสองในสามของแผ่นดินรัสเซียอยู่ในทวีปเอเซีย ศาสนาใหญ่ของโลกเกิดจากแผ่นดินทวีปเอเซียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม การข้ามผ่านของศาสนาจากดินเดนหนึ่งไปสู่ดินแดนหนึ่งจึงเกิดขึ้น ศาสนาพุทธเกิดขึ้นที่อินเดีย เข้าเอเซียกลางต่อไปจีน กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งดินแดนทางเหนือของรัสเซียด้วย แต่ระหว่างการปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ก็มีผลกระทบในเชิงการปฏิบัติ แต่ศาสนาสัมพันธ์กับ “จิตวิญญาณ” ถึงแสดงออกไม่ได้ แต่ภายในก็ยังเคารพอยู่ เมื่อระบบการปกครองผ่อนคลาย ศาสนาในใจ ก็มาเป็นศาสนาที่สามารถปฏิบัติทางกาย และการปฏิบัติในชีวิต
หลักฐานเกี่ยวกับการนับถือพระพุทธศาสนาในรัสเซีย สัมพันธ์ไปถึงการส่งสมณทูต ๙ สาย ที่พระเจ้าอโศกมหาราชแหงอินเดียส่งไปเผยแผ่แผ่ศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ที่รวมทั้งธิเบต มองโกเลีย และไซบีเรีย ดังนั้นชาวพุทธในรัสเซียจึงประกอบไปด้วย ๔ ชนชาติ หลัก ๆ ชาวตูวา (Tuva) อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของไซบีเรีย อยู่ระหว่างไซบีเรียกับมองโกเลีย ชนชาติชาติที่สองคือชาวบูเรียตเทีย(Buryatia) ชาวคามึยเคีย(Kalmykia) และชาวจิต้า(Chita)
จากข้อมูลที่พระ ดร.ชาตรี เหมพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก ให้กับหนังสือธรรมลีลา ไว้ว่า “สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนามา เป็นเวลาร่วม ๕๐๐ ปีแล้ว แต่พระพุทธศาสนาเข้าไปฟื้นฟูใน รัสเซียเมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีที่ผ่านมา ยิ่งสมัยก่อนการปฏิวัติก็ได้มีการอนุญาตโดยเฉพาะสมัยของพระนางแคทเธอรีน มหาราชินี เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่แล้วโดยเป็นการอนุญาตให้ชาวรัสเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาสามารถสร้างวัดได้”
ความเลื่อมใสพระพุทธศาสนาของชาวรัสเซียนั้นมีไม่แพ้ประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยมีหลักฐานปรากฎว่า ประเทศบูเรียตเทีย ก็ได้มีการสร้างวัดในขณะนั้นประมาณ ๓๔ แห่ง นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา สร้างวิทยาลัยสงฆ์ รวมถึงสถาบันการศึกษาขึ้นมา ๑๙ แห่ง หลังจากนั้นใน ๔ สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนา พระนางแคทเธอรีนก็อนุญาตให้มีสมเด็จพระสังฆราชของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับมองโกเลีย และทิเบต
แต่ท้ายที่สุดเมื่อประมาณปี ๒๔๘๐ โดยการนำของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์คนที่สองของรัสเซียก็ได้เข้าไปทำลายวัดวาอาราม ๒๐๐ แห่ง ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายในสี่สาธารณรัฐ รวมทั้งมีการจับสึกพระสงฆ์หลายหมื่น รูป และบางส่วนก็ถูกฆ่า และห้ามไม่ให้คนนับถือศาสนา เพราะถือว่าศาสนาเป็นยาพิษ ศาสนาเป็นตัวบ่อนทำลายความเจริญทางวัฒนธรรม”
จนกระทั่งเมื่อการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง ใน ค.ศ.๑๙๙๓ ได้มีการผ่อนคลายในเรื่องการนับถือศาสนา และตราไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้มีการนับถือศาสนาได้เสรี พระพุทธศาสนาจึงค่อย ๆ ได้รับการค้นคว้าและศึกษาเพิ่มมากขึ้นจนกระทังปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาในรัสเซียส่วนใหญ่เป็นแบบวัชรยาน นิกายเกลุกปะ แบบธิเบต ในเซนต์-ปีเตอร์สเบร์กมีวัดลามะมหายานอยู่ชื่อว่าวัดกุนเซซอยเน ถ้าเห็นคำว่า “ดัทซาน”(Datsan) ให้รู้ได้ทันทีว่านั่นแปลว่า “วัด” โดยวัดนี้ ก่อตั้งนับแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ.๑๙๐๓) ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกในยุโรป คราวเปิดวัดอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) รัชกาลที่ ๖ ของแผนดินสยามก็ทรงส่งพระพุทธรูปร่วมแสดงความยินดีด้วย มีปางนั่งสมาธิและปางอุ้มบาตร สรุปแล้วพระพุทธรูปสัญญาติไทย เดินทางมาอยู่วัดธิเบต ในยุโรป เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก รัสเซีย เมื่อเกือบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ชาวรัสเซียกับการนับถือพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
(๑) พระพุทธศาสนาในแบบชาติพันธุ์ที่นับถือกันอยู่ก่อนแล้ว
(๒) และศาสนาพุทธในฐานะเป็นศาสตร์ของความรู้ ทำไมผู้เขียนบอกอย่างนั้น เดี๋ยวจะได้เล่าต่อไป
ย้อนกลับมาเล่าเรื่องต่อเมื่อ คุณ Igor ได้ไปรับที่สนามบินแล้ว ปลายทางคือ วัดอภิธรรมพุทธวิหาร ซึ่งอยูไม่ไกลประมาณ ๑๗ กม.จากสนามบินพุลโคโว (Pulkovo) จึงได้มาพบวัดพุทธแบบเถรวาท (ตามแบบไทย พม่า ศรีลังกา ลาว เขมร) ซึ่งก่อตั้งโดยพระธรรมทูตไทย ที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย St.Petersburg ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เรียนจบปริญญาตรี โท เอก และปริญญาเอกอีกสองสาขา จากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน เมื่อเรียนเสร็จก็ได้รับการนิมนต์ให้สอนหนังสืออยู่มหาลัยแห่งนี้ จนกระทั่งมีตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์” อันเป็นตำแหน่งทางวิชาการในสายการสอนทางของท่าน
เกี่ยวอะไรกับวัดไทย วัดเถรวาท และวัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก
เมื่อพระ ดร.ชาตรี อยู่มานาน ๑๐ กว่าปี ก็เห็นช่องทางว่าจะตั้งวัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ จึงเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยที่ท่านเรียนอยู่ และสอนอยู่ กลายเป็นวัดแบบเถรวาทในรัสเซีย ดำเนินงานและเป็นเจ้าอาวาสโดยคนไทย โดยจัดซื้ออาคารทำเป็นวัดและเปิดเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ เมื่อเปรียบเทียบกับวัดไทยในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป หรืออเมริกา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทย แต่รัสเซียหาคนไทยแทบจะไม่มี เพราะวันที่มาถึงก็เป็นเสาร์ต่อวันอาทิตย์ ได้เห็นคนรัสเซียวัยหนุ่มสาว และคนที่มีการศึกษามาสวดมนต์ ตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ และปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ
จากคำบอกเลาของท่านพระอุดร สิทฺธิเมธี พระนักศึกษาหนุ่มจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พระทิวทัศน์ บุญชิต จากจังหวัดเลย บวชในคณะอัญนัมนิกาย ที่พกพาความอดทนมาอยู่ยังดินแดนที่ชื่อว่าความหนาวเป็นอาวุธกว่า ๑ ปีแล้ว เล่าให้ฟังว่าทุกวันอาทิตย์ชาวรัสเซียมากบ้างน้อยบ้าง จะมาร่วมกันสวดมนต์ปฏิบัติ ตามโอกาสและวาระ โดยเป้าหมายเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน ที่มีความรู้และศึกษาพระพุทธศาสนาผ่านการอ่าน หนังสือและตำรา อย่างเข้าใจและสนใจมาศึกษาพระพุทธศาสนา จากการฝึกฝนปฏิบัติด้วยเอง ซึ่งเป็นภาพแห่งความน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งกับอนาคตของพระธรรมทูตไทย วัดไทย และพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในดินแดนม่านเหล็ก ประเทศที่ได้ชื่อว่าแผ่นดินกว้างใหญ่ที่สุดในโลก สัญลักษณ์นกสองหัว ที่ส่องทั้งยุโรป และเอเซีย ส่วนเจ้า “นกสองหัว” ตามสำนวนไทยจะคบได้หรือไม่ได้ก็โปรดติดตามตอนต่อไป
ปัจจุบันวัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก ซึ่งก่อตั้งโดยพระภิกษุชาวไทย รู้จักในชื่อว่า Buddhavihar Saint-Petersburg ที่ตั้ง Dom ๑๘๒, Ulitza Dashnaya Posyolok Gorelovo Krasnoselskiy Raion Saint-Petersburg ๑๙๘๓๒๓ Russia tel. ๗ - ๘๑๒ ๔๒๑๐๗๒๔ ปัจจุบันมีพระธรรมทูตประจำอยู่ ๔ รูป คือ ดร.พระชาตรี เหมพันธุ์ ที่เป็นเจ้าอาวาส เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงพระไทยอีก ๒ รูป ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทในคณะ School of International Relations ของมหาวิทยาลัย Saint-Petersburg State University รวมทั้งมีพระรัสเซียอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวรัสเซียที่สนใจพระพุทธศาสนา ท่านไปบวชที่เมืองไทยและเป็นกำลังหลักที่ช่วย ท่านพระดร.ชาตรี เผยแผ่ศาสนากับชาวรัสเซียโดยตรง
คณะสงฆ์ มมร.เยือนสหพันธรัฐรัสเซีย สนทนาแนวทางศาสนาทั้งในรัสเซีย - ไทย
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๑๗.๓๐ น.พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มมร. และคณะผู้แทนคณะสงฆ์ไทยในนามมหาเถรสมาคมมี ๖ รูป/คน โดยมีนายสมปอง สงวนบรรพ์ อุปทูตไทย ประจำกรุงมอสโก ร่วมในการนี้ด้วยสนทนาแนวทางศาสนาทั้งในรัสเซีย/ไทย โดยขณะนี้รัสเซียมีในไทย ๑ แห่ง และไทยมีในรัสเซีย ๑ วัดเช่นเดียวกัน จากนั้น คณะผู้แทนมหาเถรสมาคมจะได้เดินทางต่อไปยังนครเซนต์ปิเตอร์เบิร์กอยู่ทาง เหนือของกรุงมอสโก(ใกล้ประเทศฟิลแลนด์)ใช้เวลาบิน ๑.๒๕ ชม. เพื่อเยี่ยมเยียนวัดพุทธวิหารวัดพุทธวิหารนครเซ็นต์ปิเตอร์เบิร์กนี้มี พระชาตรี เหมพนฺโธ (สังกัดวัดชลประทาน) เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตในสหพันธรัฐรัสเซียขณะนี้ ในโอกาสเดียวกันนี้คณะจะได้เข้าพบสังฆนายกปรึกษาหารือทางพัฒนาฟื้นฟูและเผย แผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ณ วัดกุนเชชอยนียวัดพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งเป็นวันพุทธแห่งแรกในยุโรป
งานฉลอง ๑๐ วันทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว ด้วยการเข้าร่วม “งานฉลอง ๑๐ วันทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ ตามคำเชิญของวัดพระพุทธศาสนา ดัทซาน กุนเซโชยเนย (Datsan Gunzechoinei) มูลนิธิพุทธศาสนาและวัฒนธรรม“Aya-Ganga” และชุมชนชาวพุทธแห่งรัฐบูราเทียประจำนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบ ๑๐๐ ปี แห่งการก่อตั้งวัดพุทธศาสนา Gunzechoinei ประจำนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ในระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นายสมปอง สงวนบรรพ์ อัครราชทูต, นายธำรงศักดิ์ ทำบุญ อัครราชทูตที่ปรึกษา และนางสาวอรทัย ภูบุญลาภ เลขานุการโท ได้นำคณะผู้แทนจากประเทศไทย อันประกอบด้วยคณะพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๕ รูป และคณะนักแสดงนาฏศิลป์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๕ คน เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
๑. การเสวนาโต๊ะกลมโดยคณะพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดยพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ “Buddhism in the Contemporary Stream of the Modern Time” ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศาสนาแห่งรัฐ (The State Historical Museum of Religion) เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒
๒. การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ณ วัด Datsan Gunzeichoinei ของรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ เป็นเวลา ๑ สัปดาห์
๓. การแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยคณะนักแสดงนาฏศิลป์กรุงเทพมหานคร นำโดยนางกัลยา อิ่มอ่อง ผู้อำนวยการศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น คือ
(๑). พิธีเปิดงานทศวรรษฯ ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศาสนาแห่งรัฐ (The State Historical Museum of Religion) เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ จำนวนการแสดง ๑ ชุด
(๒). ณ Red Hall ที่ทำการปรีมอร์สกี้ของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ จำนวนการแสดง ๙ ชุด
(๓).ใน Gala Concert ณ โรงละครใหญ่ Oktyabrsk นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ จำนวนการแสดง ๓ ชุด
การเข้าร่วมกิจกรรมข้างต้นของคณะพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้สร้างความเข้าใจให้แก่ชาวรัสเซียต่อพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของไทย และช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบูราเทีย ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนาในรัสเซีย ฝ่ายไทยและรัสเซียได้หารือเพื่อสถาปนาความร่วมมือทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและรัสเซีย การสร้างความร่วมมือระหว่างไทย (โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) กับรัสเซีย (โดยนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) รวมทั้งการแลกเปลี่ยนพระนักศึกษาระหว่างไทยกับรัสเซีย ซึ่งผลของการร่วมงานนี้ นับว่าเป็นคุณูปการแก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัสเซียต่อไป
ในส่วนของการแสดงของคณะนาฏศิลป์กรุงเทพมหานครซึ่งได้สร้างความชื่นชม สนุกสนาน และความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมชาวรัสเซียและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงในงาน Gala Concert ณ โรงละครใหญ่ Oktyabrsk เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ ซึ่งมีผู้ชมเป็นจำนวนพันนั้น นอกจากทำให้ผู้ชมชาวรัสเซียต่างซึมซับศิลปะและวัฒนธรรมไทยไว้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังเป็นการสร้างความประทับใจความรู้ ความเข้าใจของขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของไทยให้แก่ชาวรัสเซียด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของไทยยิ่งขึ้น
สรุป
พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย
ประเทศรัสเซียมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) เป็นหนึ่งใน ๑๕ ประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อครั้งที่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รัสเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก แบ่งการปกครองเป็น ๗ เขต ประกอบด้วย เขตสหพันธ์กลาง เขตสหพันธ์ใต้ เขตสหพันธ์ตะวันตกเฉียงเหนือ เขตสหพันธ์ตะวันออกไกล เขตสหพันธ์ไซบีเรีย เขตสหพันธ์อูรัลส์และเขตสหพันธ์วอลกา ประชากรในประเทศมีประมาณ ๑๔๒,๘๙๓,๕๔๐ คน ( สถิติ พ.ศ.๒๕๔๙ ) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม
ส่วนพุทธศาสนิกชนมีประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน คิดเป็น ๐.๕ % ของประชากรทั้งหมด โดยมากเป็นนิกายวัชรยานจากทิเบต พระพุทธศาสนาเข้าสู่เขตไซบีเรียครั้งแรก เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตออกประกาศพระศาสนา ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๗๖ - ๓๑๒ อย่างไรก็ตาม จากผลงานวิจัยของนักธรณีวิทยาสหภาพโซเวียต ได้ให้ข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชนในเอเชียกลางกับอินเดียมีสายสัมพันธ์สืบต่อกันมานับจากยุค
โมเฮน โจดาโร และฮารัปปา วรรณกรรมรัสเซียทั้งหลายจะพรรณนาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของอินเดีย ภาพลักษณ์ประเทศอินเดียในสายตาของชาวรัสเซียก็คือ ดินแดนที่มั่งคั่ง ประชาชนฉลาด อัจฉริยะ มีสิ่งประหลาดอัศจรรย์เหลือคณนา
หลังจากยุคพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศรัสเซียครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๗๖๖ ในสมัยที่รัสเซียตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของเจงกิสข่านแห่งมองโกล ปกติชาวมองโกเลียจะนับถือศาสนาพุทธ และลัทธิ "เต็งกรี" หรือลัทธิบูชาเทพ แต่เจงกิสข่านก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ในพระบรมราชวงศ์ของพระองค์มีผู้นับถือศาสนา เกือบทุกศาสนา และในกลางศตวรรษที่ ๑๗ หรือประมาณ พ.ศ. ๒๑๙๓ ลามะจากมองโกล และทิเบตได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปยังดินแดนชายฝั่งตะวันออกของทะสาบไบคาล (Baikal) ตอนใต้ของสหพันธ์ไซบีเรีย ในเวลาไม่นานประชาชนในถิ่นใกล้เคียงคือตูวา(Tuva) และบูเรีย-ตียา (Buryatia) ก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา สมาคมและวัดถูกสร้างขึ้นหลายแห่งนอกจากนี้ ชาวจีนจำนวนหนึ่งได้อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ที่คัลมียคียา (Kalmykia) ทางตอนใต้ของไซบีเรีย ชาวจีนเหล่านี้ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย
พระพุทธศาสนาค่อยๆ เจริญสืบเนื่องกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๔๗ ได้มีการจัดตั้งคณะภาษาตะวันออกขึ้นในมหาวิทยาลัยมอสโคว์ มหาวิทยาลัยกาซาน มหาวิทยาลัย-ขาร์กอฟ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยขาร์กอฟ คือ ไอ.ริซสกี้ (I.Rizhsky) เขาให้ความสำคัญกับภาษาสันสกฤตมาก ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งที่บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนาแห่งแดนตะวันออก เอส.ยูวารอฟ (S.Uvarov) ประธาน The Academy of Science กล่าวพรรณนาความสำคัญของดินแดนตะวันออกไว้ว่า เป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมโลก ศาสนาทุกศาสนา ศาสตร์ทุกศาสตร์ ปรัชญาทุกลัทธิ ทวีปเอเชียเท่านั้นได้พิทักษ์ไว้ซึ่งของขวัญมหัศจรรย์แห่งการผลิตปรากฏการณ์ทางศีลธรรมอันยิ่งใหญ่
การศึกษาปรัชญาตะวันออกค่อยๆ ดำเนินสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๗ อิแวน มินาเยฟ (Ivan Minayev) ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งสถาบันรัสเซียตะวันออกคดีและพระพุทธศาสนาศึกษา ได้เดินทางไปศรีลังกา อินเดีย และเนปาล เพื่อศึกษาศาสนาต่างๆ ทางตะวันออก อันได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาเชน และศาสนาฮินดู บันทึกการเดินทางของเขาได้รับการพิมพ์เผยแพร่ให้ชาวรัสเซียศึกษาในหนังสือชื่อ Studies of Ceylon and India From the Travel Notes of a Russian ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๑ อิแวน มินาเยฟ ได้เดินทางไปประเทศพม่า ซึ่งเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนายังมีชีวิตอยู่ เขาพบว่า คัมภีร์ทรงคุณค่าของพระพุทธศาสนา ได้ถูกละเลยทอดทิ้งไว้ในวัดวาอาราม ในห้องสมุด ในบ้าน... เขารวบรวมคัมภีร์มากหลายกลับไปรัสเซีย เรื่องที่ทำให้เขาตื่นตระหนกขณะที่อยู่ในพม่าคือ มิได้มีการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาในพม่าเลย ความฉลาดอัจฉริยะรอบรู้ในภาษาบาลีของเขา ทำให้นักปราชญ์และภิกษุชาวพม่ารวมทั้งชาวอังกฤษ พากันตื่นเต้นและประหลาดใจมาก
การศึกษาอินเดียคดีศึกษาและพระพุทธศาสนาในรัสเซียยุคอิแวน มินาเยฟ จึงถือว่ารุ่งโรจน์มาก และได้รับการพัฒนาถึงขั้นสูงสุดในยุคไฟโอดอร์ สเชอบาร์ทสกอย (Fyodor Scherbatskoy) ซึ่งเป็นศิษย์ของเขา งานของปราชญ์ผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคพุทธศาสตร์โลก วรรณกรรมของเขาได้รับการจัดพิมพ์ในประเทศต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่อง ไฟโอดอร์ สเชอบาร์ทสกอยมีความสนใจในตรรกวิทยาในพระพุทธศาสนามาก จึงเขียนหนังสือชื่อ Theory of Knowledge and Logic According to Later Buddhists ขึ้นพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ
ไม่กี่ปีต่อมา การเมืองในรัสเซียก็เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พรรคบอลเชวิค นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน ทำการปฏิวัติล้มล้างระบบกษัตริย์ ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในยุคของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ เลนินได้จัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้น ผลจากการปฏิวัติกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก วัดและสมาคมต่างๆ ต้องปิดตัวลง หน่วยทหารได้ตั้งที่ทำการอยู่ในเขตวัด พุทธสถานต่างๆ ชำรุดทรุดโทรม พระพุทธรูปและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถูกทำลาย เหล่าทหารคอมมิวนิสต์ฉีกกระดาษจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา ซึ่งบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาม้วนทำเป็นมวนบุหรี่แล้วจุดสูบ
สถานการณ์พระพุทธศาสนาในช่วงนี้จึงระส่ำระสายมาก แต่เมื่อพ้นจากช่วงปฏิวัติไปแล้วก็เริ่มดีขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เซอร์จี โอลเดนเบอร์ก ปราชญ์ระดับแนวหน้าด้านพระพุทธศาสนา ศิษย์อีกคนหนึ่งของอิแวน มินาเยฟ ได้เข้าพบวลาดีมีร์ เลนิน ผลจากการเข้าพบครั้งนั้น เลนิน อนุญาตให้เขาจัดตั้งกรมประวัติศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ขึ้นอย่างเป็นทางการ จึงทำให้การค้นคว้าพระพุทธศาสนาทำได้อย่างสะดวกและได้พัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก ที่สำคัญในเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ประเทศรัสเซียได้จัดงานมหกรรมมรดกพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกขึ้น ณ นครเปโตกราด ในงานมีการแสดงพุทธศิลป์ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น จีน ญี่ปุ่น ทิเบต มองโกเลีย ศรีลังกา กล่าวได้ว่า ทุกประเทศในโลกแม้ประเทศไทยเราเองก็ไม่เคยจัดงานมหกรรมพระพุทธศาสนาเช่นนี้มาก่อน ในงานปราชญ์คนสำคัญหลายท่านได้แสดงปาฐกถาธรรมด้วย เช่น เซอร์จี โอลเดนเบอร์ก ปาฐกถาเรื่อง พระพุทธประวัติพระบรมครูแห่งชีวิต เป็นต้น
วลาดีมีร์ เลนิน เสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จากนั้น โจเซฟ สตาลิน ได้สืบทอดตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์แทน ในยุคของสตาลินสถานการณ์พระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ วัดทั้งหมดในประเทศถูกสั่งปิด พระลามะประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ได้รับการกลั่นแกล้งจากรัฐบาล สตาลินนำระบบคอมมูนมาใช้ปกครองประเทศ คือ ห้ามทุกคนมีทรัพย์สินส่วนตัว ทุกอย่างรวมทั้งตัวบุคคลเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ ยุคนั้นมีคนอดตายหลายล้านคนโดยเฉพาะในยูเครนตายถึง ๕ ล้านคน ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้ระบบรวมผลผลิต ที่สตาลินเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีกว่าที่เคยเป็นมา ผู้ที่ต่อต้านนโยบายจะถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตราว ๑๐ ล้านคน สตาลินแก้ปัญหาผู้มีความเห็นขัดแย้งด้วยความตาย เขากล่าวว่า "ความตายแก้ปัญหาได้หมด เมื่อไม่มีคนก็ไม่มีปัญหา" ต่อมาเมื่อรัสเซียเข้าสู่สนามแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๘ สหภาพโซเวียตชนะสงคราม โดยแลกกับชีวิตประชาชน ๒๐ ล้านคน และชีวิตทหารอีก ๑๐ ล้านคน ยุคนี้จึงถือเป็นยุคมืดของชาวโซเวียต
ช่วงระยะเวลาประมาณ ๖๒ ปี นับตั้งแต่ยุคโจเซฟ สตาลิน เป็นต้นไป ศาสนาต่างๆ ได้รับการกดดันจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก โดยเฉพาะศาสนาเทวนิยมคือคริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลามซึ่งสอนให้ศรัทธาในพระเจ้า รัฐต้องการแทนที่พระเจ้าด้วยวิทยาศาสตร์อันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล ถึงแม้พรรคคอมมิวนิสต์จะไม่ได้ใช้เหตุผลในการปกครองก็ตาม ในช่วงนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหภาพโซเวียตกำลังเจริญรุ่งเรือง โซเวียตเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรในอวกาศ ซึ่งก็คือดาวเทียมสปุตนิค ๑ ถูกส่งขึ้นไปในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และแรงกดดันจากรัฐที่มีต่อศาสนา ส่งผลให้ชาวรัสเซียกลายเป็นผู้ไม่มีศาสนาและไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังส่งผลมาถึงยุคปัจจุบัน แม้จะผ่านยุคการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มาแล้ว จากการสำรวจใน พ.ศ. ๒๕๔๕ พบว่ามีชาวรัสเซียประมาณ ๓๒ % ที่ไม่มีศาสนาและไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า
เสรีภาพทางศาสนาหวนคืนมาอีกครั้งในยุคของมิฮาอิล กอร์บาชอฟ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นไป กิจการทางพระศาสนาเริ่มกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกหลังจากที่ซบเซาไปหลายสิบปี รัฐบาลสหภาพโซเวียตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ กฎหมายนี้อนุญาตให้ประชาชนเลือกนับถือศาสนาและปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาได้อย่างเสรี ในยุคกอร์บาชอฟนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้งคือในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มิฮาอิล กอร์บาชอฟได้ประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่างๆ ทั้ง ๑๕ สาธารณรัฐแยกตัวเป็นอิสระ ศูนย์กลางของสหภาพโซเวียตนั้นได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสหพันธรัฐรัสเซีย ในยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก จากการสำรวจพุทธศาสนิกชนในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พบว่ามีชาวพุทธอยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน มีศูนย์พระพุทธศาสนา อยู่ ๔๓๒ ศูนย์ มีวัดอยู่ ๑๖ วัด มีลามะประมาณ ๗๐ รูป ชาวพุทธโดยส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในแถบไซบีเรียและเมืองเลนินกราด พุทธศาสนิกชนเหล่านี้ได้ช่วยกันเผยแผ่สืบทอดอายุของพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องเรื่อยมาตราบกระทั่งปัจจุบัน
บรรณานุกรม
(www.Thaiembassymoscow.com) วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓. ข่าวการกงสุล กรมการกงสุล
กระทรวงต่างประเทศ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓ เดือนธันวาคม ๒๕๕๑.
(www.mahamakut.net.co.th/t-book/may-49.html) วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓). พระพุทธศาสนา
ในโลกปัจจุบันประเทศรัสเซีย พิพัฒน์ บุญยง แปลและเรียบเรียง พิมพ์ลงในนิตยสาร
ธรรมจักษุ ปีที่ ๙๐ ฉบับที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙.
Buddist Paintings in Buryatia. Ts-Badmazhapov (Ulan-Ude). Buddhist Himalaya : A Journal of
Nagarjuna Institute of Exact Methods. Vol. VII No. I & II (1996). Nagajuna
Institute of Exact Methods 1996.
-------------------------------