วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบวช

พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน หลักธรรมคำสอนได้สอดแทรกเข้าไปสู่วิถีการดำเนินชีวิต เป็นรากฐานให้กับวัฒนธรรมประเพณี ตลอดถึงวิธีคิดในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม ด้านความเป็นอยู่ ล้วนอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน จนกลายเป็นลักษณะพิเศษของคนไทย จากการที่พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สังคมไทยในอดีตกาลนั้น ได้รับองค์ความรู้จากนักบวช คือ พระภิกษุที่นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ และกลายเป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นที่เคารพสักการะ และเกิดการบวชกุลบุตรที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นภิกษุขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
การบวชจึงเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่ชาวพุทธให้ความสำคัญ จึงเกิดเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชายไทยพออายุครบยี่สิบปี มักจะหาระยะเวลาสักครั้งในชีวิตเพื่อเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา และการออกบวชวิวัฒนาการมาโดยลำดับสลับซับช้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นค่านิยม บางครั้งการบวชในสังคมไทยก็ออกนอกหลักการพระธรรมวินัยในด้านเนื้อหาไปเรื่อยๆ คงไว้แค่เพียงรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดภาวะอ่อนแอและเสื่อมโทรมไปในที่สุด
พระพุทธศาสนากล่าวถึงการออกบวชเป็นการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเฉพาะแบบ เพื่อพัฒนาบุคคลให้มุ่งสู่เป้าหมายคือความพ้นทุกข์ที่เรียกว่า “พรหมจรรย์” ดังคำสรุปการตรัสรู้ของพระพุทธองค์และการบรรลุความเป็นพระอรหันต์ของพระสาวกว่า
ชาติสิ้นไปแล้ว พรหมจรรย์เสร็จสิ้นลงแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจ
อื่นๆที่จะต้องทำเพื่อการนี้ ย่อมไม่มีอีก ภิกษุใด เป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประ
โยชน์ ได้โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
พระพุทธพจน์นี้แสดงถึงวัตถุประสงค์ของชีวิตนักบวชต้องการ คือการบรรลุพระนิพพาน ได้แก่ การหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปธรรมนามธรรม คือ “ความสิ้น ราคะ โทสะ โมหะ” “และ ความสิ้นตัณหา” คือจุดจบแห่งทุกข์
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแนวคิดการบวชในพระพุทธศาสนาจากเดิม คือ ต้องการพ้นทุกข์ (นิพพาน) ได้มีพลวัติไปเป็นวัตถุประสงค์ที่หลากหลายในสังคมไทยปัจจุบัน แม้ในวิธีการบวชยังอ้างอิงแนวคิดในพระไตรปิฏก แต่การดำเนินชีวิตของผู้บวชมิได้ตั้งอยู่ในองค์ความรู้ตามหลักการดั้งเดิม ได้แก่ การมีวัตถุประสงค์ทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การบวชตามประเพณี บวชเพื่อศึกษาวิชาการตามระบบทางโลกซึ่งมิได้เป็นไปตามระบบไตรสิกขา การบวชเพราะต้องการชุบตัวทางสังคม บางครั้งการบวชกลายเป็นช่องทางในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงเป็นภาวการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่า แนวคิดการบวชที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา อาจเป็นแค่กิจกรรมทางสังคมชนิดหนึ่งที่ชาวพุทธเองไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระอันแท้จริง ในพระไตรปิฏกกล่าวถึงนักบวชหรือบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไว้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑) ภิกษุ ได้แก่นักบวชที่เป็นชายมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ภิกษุนี้จะต้องประพฤติปฏิบัติตามวินัย จำนวน ๒๒๗ สิกขาบท
๒) ภิกษุณี ได้แก่นักบวชที่เป็นหญิง มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือถ้าเคยผ่านการมีครอบครัวมีสามีมาแล้วต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปีบริบูรณ์ แต่ต้องผ่านการศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี และสงฆ์ให้การรับรองแล้ว ก็สามารถที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ ภิกษุณีมีวินัยสำหรับประพฤติปฏิบัติจำนวน ๓๑๑ สิกขาบท
๓) สิกขมานา ได้แก่นักบวชที่เป็นหญิง ที่ต้องประพฤติสิกขาในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีโดยไม่ให้ขาดไม่ให้บกพร่องแล้วจึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ หรือได้แก่สามเณรีที่มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ กำลังเตรียมตัวเป็นภิกษุณี สิกขมานาจะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบท ๖ ข้อ
๔) สามเณร ได้แก่นักบวชที่เป็นชายมีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ บวชด้วยการรับไตรสรณคมณ์ แม้ผู้ที่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ยังไม่ได้รับการอุปสมบท ก็ยังชื่อว่าเป็นสามเณรอยู่เช่นเดิม สามเณรจะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทจำนวน ๑๐ ข้อ สิกขาบท ๖ ข้อแรกเหมือนกับสิกขาบทของสิกขมานา โดย รักษาเพิ่มอีก ๔ ข้อ
๕) สามเณรี ได้แก่นักบวชที่เป็นหญิง มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เป็นสามเณรผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการอุปสมบท สามเณรีจะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทจำนวน ๑๐ ข้อเหมือนสามเณร
ในการบวชของนักบวชเหล่านี้ ต้องอาศัยหลักพระธรรมวินัยเป็นรูปแบบและทำให้การบวชนั้นสมบูรณ์ คือ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการบวชไว้หลายประการ ในระยะแรกทรงบวชภิกษุด้วยพระองค์เองก่อน ต่อมาเหตุการณ์และความจำเป็นตลอดจนเงื่อนไขเหตุปัจจัยต่างๆบางประการที่พัฒนาการขึ้น จึงทรงอนุญาตให้พระสาวกดำเนินการแทน และในที่สุดทรงมอบความเป็นใหญ่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสงฆ์ในการดำเนินการ วิธีการบวชนั้น เรียกว่า อุปสัมปทา หรือ อุปสมบท ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับตรวจสอบบุคลากร ก่อนรับบุคคลเข้าสู่ชีวิตการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มี ๘ วิธี ได้แก่
๑) เอหิภิกขุปสัมปทา คือ วิธีการบวชที่ทรงตรวจสอบด้วยพระองค์เอง เป็นวิธีการในยุคแรก และเป็นวิธีแรกของการบวชในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ แบบ คือ (๑.๑) ถ้าบุคคลผู้ที่จะเข้ามา ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ ก็จะมีพุทธดำรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดโดยชอบเถิด
(๑.๒) ถ้าบุคคลนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะมีพุทธดำรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
๒) ติสรณคมณูปสัมปทา คือ วิธีการบวชที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกดำเนินการตรวจสอบและรับแทน ด้วยการรับไตรสรณคมณ์ โดยผู้ประสงค์จะบวชต้องปลงผมโกนหนวด และนุ่งห่มจีวรเรียบร้อยแล้วกราบเท้าของภิกษุ ประนมมือกล่าวคำปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยตามคำของภิกษุ ๓ ครั้งก็เป็นอันเสร็จ
๓) โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือ วิธีการบวชด้วยการรับเป็นข้อประพฤติปฏิบัติโอวาทไป เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ท่านพระมหากัสสปะเป็นกรณีพิเศษ
๔) ปัญหาพยากรณูปสัมปทา คือ วิธีการบวชด้วยการให้ตอบปัญหา เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่ท่านโสปากะ ซึ่งขณะนั้นเป็นสามเณรมีอายุเพียง ๗ ปี โดยการถามปัญหาเรื่องอสุภะ เมื่อท่านทูลตอบปัญหานั้นได้ จึงทรงอนุญาตให้ท่านอุปสมบทด้วยการตอบปัญหานั้นนั่นเอง
๕) ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา คือ วิธีการบวชด้วยการให้รับครุธรรม ไปศึกษาและปฏิบัติเป็นวิธีแรกของการบวชหรืออุปสมบทเป็นภิกษุณี พระพุทธเจ้าทรงประทานครุธรรม นั้นแก่นางมหาปชาบดีโคตมีให้รับเอาไปศึกษาและปฏิบัติตลอดชีวิต และเป็นบวชภิกษุณีครั้งแรก
๖) ทูเตนูปสัมปทา คือวิธีการบวชด้วยการใช้ทูตดำเนินการแทน เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่หญิงผู้ที่ได้รับอุปสมบทจากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องการจะไปขอรับอุปสมบทจากฝ่ายภิกษุสงฆ์ แต่เธอไม่สามารถที่จะเดินทางไปด้วยตนเองได้ เนื่องจากอาจทำให้ได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแม้โดยการใช้ทูตดำเนินการแทน ขั้นตอนแห่งการอุปสมบท เหมือนกับว่าเธอมาดำเนินการขออุปสมบทด้วยตนเองทุกประการ
๗) อัฏฐวาจิกูปสัมปทา คือ วิธีการบวชที่มีวาจา ๘ เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่หญิงผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีด้วยญัตติจตุตถกรรมจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือบุคคลผู้ที่จะเข้ามาบวชด้วยวิธีนี้เมื่อเป็นสิกขมานาเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว จะต้องทำพิธีอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมจากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เสียก่อน จากนั้นจึงทำพิธีอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมจากฝ่ายภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง
๘) ญัตติจตุตถกัมมูปสัมปทา คือ วิธีการบวชด้วยญัตติจตุตถกรรม อันหมายถึง กรรมมีญัตติเป็นที่สี่เป็นสังฆกรรมที่สำคัญ เช่น อุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้วต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่ เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ดำเนินการบวชพระภิกษุด้วยการตั้งญัตติ หมายถึงคำเผดียงสงฆ์ การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน แล้วสวดอนุสาวนา อันหมายถึงคำสวดประกาศ คำประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ คำขอมติ ๓ หน โดยสงฆ์ได้อุปสมบทให้ท่านพระราธะเป็นรูปแรก มีท่านพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการบวชหรืออุปสมบทในปัจจุบัน อนึ่ง หลังจากการทรงอนุญาตให้สงฆ์ใช้ระบบญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสมบทแล้ว ก็ทรงยกเลิกการใช้ระบบติสรณูปสัมปทาสำหรับการรับสมาชิกของพระภิกษุอีก แต่ทรงปรับให้ใช้วิธีนี้บวชสามเณรแทน
นอกจากนี้แล้ว ยังมีบวชอีกวิธีหนึ่งคือ ทายัชชอุปสัมปทา ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษแก่สามเณรสุมนะที่มีอายุ ๗ ปี แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เมื่ออายุ ๗ ปี และสามเณรที่มีอายุ ๗ ปีได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีเพียง ๒ รูปเท่านั้น คือสามเณรสุมนะและโสปากะ ซึ่งทรงอุปสมบทให้เป็นกรณีพิเศษเพราะสามารถพัฒนาตนจนเป็นพระอรหันต์ จะเห็นว่ากระบวนการบวชนั้นมีความละเอียดรอบคอบ แต่ทั้งนี้ ก็ทรงคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการนั้นขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงและขยายตัวตามเหตุปัจจัยของสถานการณ์
ทั้งนี้ การออกบวชตามหลักพระพุทธศาสนาก็ต้องอาศัยความเลื่อมใสศรัทธาในพระธรรมวินัยเป็นหลักเบื้องต้น และบุคคลที่ออกบวชจะต้องมีวัตถุประสงค์การออกบวชที่ชัดเจน ด้วยการเชื่อมั่นในแนวคิดแบบพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความแตกต่างจากนักบวชในลัทธิอื่นๆ ในสังคมไทยปัจจุบันการบวชบางประเภทมิได้ชัดเจนทั้งในรูปแบบและเนื้อหา เช่น นักบวชที่เป็นแม่ชี สามเณรีที่ยังเป็นปัญหา และนักบวชของลัทธิบางกลุ่มที่อาศัยพระพุทธศาสนาเป็นสื่ออธิบายความหมาย เช่น กลุ่มสันติอโศก หรือพวกพราหมณ์ที่ยังอิงอยู่กับสถานะทางสังคมพุทธ โดยมีหน้าที่บางอย่างร่วมกับพิธีการทางพระพุทธศาสนา
นักบวชที่เห็นว่าได้รับการยอมรับสถานะในทางสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ชัดเจนตามหลักพระธรรมวินัย จึงเหลืออยู่แค่ ๒ ประเภท คือ พระภิกษุ กับ สามเณร ซึ่งในปัจจุบันมีความหละหลวมทางพระวินัยจนเกิดปัญหาและอธิกรณ์ขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ชาวพุทธควรจะกลับมาทบทวนแนวคิดการบวชว่าเกิดอะไรขึ้น แนวคิดการบวชในสังคมไทยปัจจุบันตั้งอยู่ฐานองค์ความรู้เดิมหรือไม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการบวชเปลี่ยนแปลงไปเพราะอะไร มีบริบททางสังคมอะไรที่ทำให้แนวคิดการบวชถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามระบบต่างๆของรัฐและสังคม จนไม่เอื้อต่อแนวคิดการบวชดั้งเดิมในพระไตรปิฏก และจะมีเกณฑ์การตัดสินอย่างไรที่จะชี้วัดแนวคิดการบวชในสังคมไทยปัจจุบันให้กลับมาอยู่ในบริบทคำสอนดั้งเดิมตามพระธรรมวินัย โดยไม่ทำให้การบวชในสังคมไทยปัจจุบันเกิดความเสียหาย และสามารถที่จะรักษาวัตถุประสงค์ตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างไรมิให้เกิดผลเสียหายต่อแนวคิดการบวชที่เป็นเนื้อหาสาระตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น