๑. ความหมายของชื่อคัมภีร์
เนตติ แปลว่าที่นำไป, ปกรณ์แปลว่าคัมภีร์, ที่เรียกว่า "เนตติปกรณ์" เพราะเป็นคัมภีร์ที่นำไปสู่มรรคผล, ที่ท่านให้ชื่อว่า "เนตติ" เพราะสามารถนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน
เนตติปกรณ์ แปลว่า คัมภีร์แนะแนว คือ แนวทางนำไปสู่ความเข้าใจพระพุทธพจน์ จึงเป็นคัมภีร์อธิบายพุทธพจน์
คำว่า “เนตติ” ในอรรถกถาคัมภีร์เนตติปกรณ์ พระธรรมบาลเถระแห่งพุทธติตถวิหาร ได้อธิบายความหมาย คำว่า “เนตฺติ” ไว้ว่า หมายถึง คัมภีร์ที่สามารถนำเวไนยสัตว์เข้าสู่สัจธรรมได้ หรือเป็นเครื่องมือในการทำเวไนยสัตว์ให้บรรลุนิพพาน หากใช้หลักการตามคัมภีร์เนตติปกรณ์นี้ศึกษาเนื้อหาของพระสูตร จะมีความรู้ความเข้าใจพระสูตรได้ถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. ความสำคัญของคัมภีร์เนตติปกรณ์
ตามประวัติกล่าวว่าพระมหากัจจายนเถระปรารถนาจะช่วยให้คนทั้งหลาย ฟังธรรมแล้วเข้าใจพระพุทธพจน์อย่างแจ่มแจ้ง และสามารถแทงตลอดอริยสัจ ๔ จึงได้แสดงหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้ เชื่อกันว่า แต่งในสมัยพุทธกาลและได้รับสังคายนาร่วมกับพระไตรปิฎกในปฐมสังคายนา และถูกผนวกใน พระไตรปิฎกฉบับบฉัฏฐี
คัมภีร์เนตติหรือเนตติปกรณ์ ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวนิทานกถาไว้เลย ทั้งนี้มิใช่ว่าเป็นเพราะเนตติปกรณ์มิใช่พุทธพจน์ ด้วยว่า แม้แต่พุทธพจน์ในบางแห่งของพระไตรปิฏกก็ไม่ได้กล่าวนิทานกถาไว้เลย เช่น ธรรมบท พุทธวงศ์ อย่างไรก็ตาม เฉพาะเนตติปกรท่านพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายเหตุผลที่ไม่มีการกล่าวนิทานกถาไว้ ๒ อย่าง คือ
๑. ผู้ที่กล่าวนิทานกถาได้นั้น จะต้องเป็นพระมหาสาวก เช่น พระอานนท์ พระอุบาลี หรือพระมหากัจจายนะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในฐานะที่เนตติปกรณ์เองก็เป็นของพระมหาสาวกอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวนิทานกถาด้วยตนเอง
๒. เนตติปกรณ์มิใช่พุทธพจน์โดยตรง เป็นเพียงคัมภีร์อธิบาย ขยายความพระบาลีพุทธพจน์ เหมือนกับคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค มหานิเทส และจุฬนิเทส จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวนิทานกถาไว้
ทางประเทศเพื่อนบ้านเราจัดไว้ในกลุ่มพระไตรปิฎก น่าจะเป็นเพราะคัมภีร์นี้เป็นกุญแจไขพระไตรปิฎก คือช่วยอธิบายขยายความพระไตรปิฎกอย่างมีหลักเกณฑ์และมีวิธีการที่ละเอียดลึกซึ้ง
เนตติมีความสำคัญอย่างไร
คัมภีร์เนตติ ที่จัดเป็นสังวัณณนาวิเสส (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกอีกแนวหนึ่ง) ก็เหมือนอรรถทั่วไป แต่เป็นอรรกถาที่มีเทคนิกการอธิบายตามต้นฉบับของตนคือมีอลังการตายตัว เนตติจึงมีความจำเป็นมากต่อการศึกษาพระไตรปิฎก เพราะพระสูตร (พระไตรปิฎก) มีการแสดงโวหารไว้มากมายหลาก ยากที่จะกำหนด ฉะนั้นท่านมหากัจจายนะ จึงต้องวางหลักในการเตรียมพร้อมเพื่อปูทางสู่การอ่านพระสูตร เพื่อที่จะได้ให้เอาพระสูตรแต่ละพระสูตรมาประมวลให้ได้หลักธรรมที่สอดคล้องกัน ความจริงแล้วแต่ละพระสูตรใช้โวหารไม่เหมือนกัน แต่ว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจะต้องเหมือนกัน ฉะนั้นนักศึกษาจะต้องอาศัยหลักของเนตติปกรณ์ จึงจะสามารถตีความพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์ พูดง่ายๆ ก็คือเพื่อให้สามารถเก็บองค์ธรรมในพระสูตรให้ได้นั่นเอง
พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงด้วยโวหารเทสนาอันวิลาส มีความวิจิตรพิสดารยิ่ง ยากที่จะจับได้ว่า ตรงนี้แสดงอะไร และหมายถึงอะไร แต่ถ้าเรารู้เนตติปกรณ์ เราก็สามารถที่จะสรุปธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะทรงแสดงไว้ในรูปแบบไหน เช่น ไม่ว่าจะแสดงมาในรูปบัญญัติหรือปรมัตถ์ เราก็สามารถที่จะโยงเข้ามาในหลักธรรมได้ ความจริงแม้ว่าเนตติปกรณ์ จะมีความสำคัญพอที่จะอ่านพระไตรปิฎก หรือพระสูตรได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะจะต้องอาศัยหลักของอภิธรรมเข้ามาช่วย เพราะหลักอภิธรรมนั้นมีบทบาทในการเก็บองค์ธรรมเป็นอย่างยิ่ง พูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่เข้าใจอภิธรรม ก็จะเก็บสารธรรม(องค์ธรรม)ไม่ได้ ฉะนั้น พื้นฐานความรู้ด้านพระอภิธรรมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ดังที่โบราณาจารย์ท่านได้บอกเอาไว้ว่า เนตติปกรณ์เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความหมายของพระไตรปิฎก
อนึ่ง การที่เราจะเข้าใจหลักธรรมโดยถูกต้องนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลัก ถ้าไม่มีหลักธรรมะก็อาจจะตีกัน เช่น คนหนึ่งอาจอ่านพระสูตรแล้วตีความได้อย่างหนึ่ง อีกคนอ่าน ตีความได้อีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นสูตรเดียวกัน แต่ถ้าเราอาศัยหลักเดียวกันก็จะไม่ขัดกัน ฉะนั้นก่อนที่จะอ่านพระไตรปิฎกนักศึกษาจะต้องมีหลักการจึงจะสามารถอ่านเข้าใจได้อรรถรสที่ดี
ขุทฺทกนิกาย เนตติปกรณ์ ความจริงเวลาใช้คำบาลีโดยทั่วไปมักจะประกอบวิภัตติ แต่ในที่นี้ ใช้ตามแบบฉบับฉัฏฐีสังคีติ ในประเทศลังกานิยมใช้บทที่ประกอบวิภัตติแล้ว เช่น ขุทฺทกนิกายกาโย เนตฺติปกรณํ (เนตติปกรณ์จัดขุทฺทกนิกาย) ในตอนท้ายของคัมภีร์กล่าวว่า เนตติปกรณํ เปฏโกปเทสปกรณํ เอตฺตาวตา สมตฺตา เนตฺติ ยา อายสฺมตา มหากจฺจายเนน ภาสิตา ภควตา อนุดมทิตา มูลสงฺคีตาติ (เนตติปกรณ์ พระมหากัจจายนะแต่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา พระธัมมสังคหกาจารย์ รับสืบทอดต่อกันมา จบแล้วด้วยประการฉะนี้) ประโยคนี้เป็นคำที่พระเถระผู้รวบรวมหรือที่เรียกว่าพระธัมมสังคหกาจารย์ กล่าวไว้ ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ ต่อมา โบราณาจารย์ยุคหลังเห็นว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญก็จัดคัมภีร์นี้เข้าในกลุ่มพระไตรปิฏกขุทฺทกนิกาย
๓. ความเป็นมาของคัมภีร์เนตติปกรณ์
เป็นผลงานของพระเถระรูปหนึ่งร่วมสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า พระมหากัจจายนะ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่สามารถอธิบายขยายความธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้โดยย่อให้พิสดารได้ จึงรวบรวมประมวลหลักการและวิธีการที่ท่านใช้ในการอธิบายความตีความธรรมเอาไว้ สันนิษฐานกันว่า คัมภีร์เนตติปกรณ์เป็นคัมภีร์สายเถรวาท และมีคัมภีร์ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน คือ คัมภีร์เปฏโกปเทส ซึ่งอาจมีที่มามาจากสายอื่น เช่น นิกายมหิสาสกะ
คัมภีร์ทั้งสองนี้ แม้มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่ความเป็นระเบียบในการแต่งมีความแตกต่างกัน คัมภีร์เนตติปกรณ์จะมีเนื้อหาที่เป็นระบบชัดเจนมากกว่า เพราะคัมภีร์เปฏโกปเทสไม่ได้จัดลำดับข้ออย่างเป็นระบบ ข้อนี้ทำให้ปราชญ์ชาวตะวันตกบางท่านเห็นว่า คัมภีร์เปฏโกปเทสเกิดก่อนคัมภีร์เนตติปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ชั้นรองของพระพุทธศาสนาเถรวาทได้มีข้อความบ่งชี้ว่า คัมภีร์เปฏโกปเทสนั้นแต่งตามแนวของคัมภีร์เนตติปกรณ์ และมีเนื้อหาดำเนินตามแนวของคัมภีร์เนตติปกรณ์ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในพระไตรปิฎกเช่นกัน
คัมภีร์เนตติปกรณ์ มีความแตกต่างจากคัมภีร์อรรกถาอื่น ๆ ตรงที่ว่า คัมภีร์เนตติปกรณ์จะอธิบายธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหลักหาระ นัย และสาสนปัฏฐาน เป็นหลักการอธิบายที่มีลักษณะเฉพาะที่มุ่งอธิบายความเนื้อหาธรรมเป็นหลัก แต่คัมภีร์อรรถกถาอื่น ๆ นั้น จะมีลักษณะอธิบายความจากพระไตรปิฎกเช่นกัน แต่เป็นการอธิบายแบบคำต่อคำ บทต่อบท ความต่อความ ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับคัมภีร์เนตติปกรณ์ นอกจากนั้น คัมภีร์อรรถกถา มีการนำนิทานยกขึ้นมาอธิบายประกอบเป็นตัวอย่าง แต่คัมภีร์เนตติปกรณ์ไม่มีการยกนิทานมาอธิบายประกอบ หากแต่จะยกพุทธพจน์มาเป็นตัวอย่างอธิบายประกอบ[๑]
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการตีความหรือเข้าใจเนื้อหาสาระพระสูตรเดียวกันต่างกัน ฉะนั้น หากการศึกษาตีความใช้หลักการเดียวกัน จะเชื่อได้ว่า การตีความจะไม่ขัดแย้งกัน ไม่ว่าการแสดงธรรมนั้นจะแสดงไว้ในรูปแบบไหน ทั้งในแง่บัญญัติและปรมัตถ์ เพราะการใช้หลักการเดียวกันจะสามารถเชื่อมโยงเข้าหาหลักธรรมได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการทั้งหมดนั้นสามารถเชื่อมโยงถึงกันและกันได้ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้คัมภีร์เนตติปกรณ์จะถือเป็นหลักการเพียงพอที่จะอ่านพระไตรปิฎกได้ กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเข้าใจองค์ธรรมโดยรวมอย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องอาศัยหลักการอื่น ๆ มาประกอบด้วย โดยเฉพาะหลักอภิธรรมมาช่วยอธิบายหรือศึกษาตีความ เพราะองค์ธรรมหรือเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นธรรมส่วนมากจะแสดงไว้ในอภิธรรม กระนั้นก็ตาม นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เช่น พุทธทาสภิกขุ เห็นว่า การศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถศึกษาได้ครบถ้วนในพระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกในส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎก ท่านเสนอให้ตัดทิ้งบ้างก็ได้ เราก็ยังสามารถศึกษาพุทธธรรมได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในกลุ่มผู้ศึกษาพุทธศาสนา หรือนักปราชญ์ชาวพุทธศาสนา จะมีความเห็นต่างกันบ้าง เป็นสิ่งที่ควรรับฟังไว้ แต่จะเชื่อหรือยอมรับหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ฉะนั้น ลักษณะการศึกษาพุทธศาสนาที่ควรจะเป็น คือ ควรศึกษาตามคัมภีร์ หรือหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ เท่าที่มีสืบทอดมาถึงเรา ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา ตลอดถึงคัมภีร์อื่น ๆ ไม่ควรจะตัดทิ้งหรือมองข้ามละเลยคัมภีร์ใด ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไป เพราะเราเองตัดสินไม่ได้เช่นกันว่า ส่วนไหนใช่หรือไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ภาพรวมของเนื้อหาคัมภีร์ทั้งหมดเป็นตัวเปิดเผยถึงความจริงของตัวมันเอง คัมภีร์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นปกรณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นหาคำสอนหรือสาสนะ เป็นการสืบค้นหาความหมายของคำ “สาสนะ” หมายถึง สิ่งที่ใช้เป็นเครื่องสั่งสอน แนะนำสัตว์ด้วยประโยชน์ในปัจจุบัน ในอนาคต และประโยชน์สูงสุดตามความเหมาะสม สอน อธิบายถึงความหมายของคำสอนในเชิงปริยัติ วิเคราะห์วิจารณ์ถึงเนื้อหาคำสอนทั้งหมดสอดคล้องกันระหว่างหลักการใหญ่กับหลักการย่อยทั้งหลาย
๔. ข้อเปรียบเทียบบางประการของคัมภีร์เปฏโกปเทสปกรณ์และเนตติปกรณ์
แม้ว่าคัมภีร์เปฏโกปเทสปกรณ์และเนตติปกรณ์จะได้รับการยืนยันว่าเป็นคัมภีร์ที่รจนาโดยพระเถระรูปเดียวกัน แต่ถ้าได้ศึกษาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าในเรื่องต่างๆ เนตติปกรณ์อธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและรัดกุมกว่า ส่วนเปฏโกปเทสปกรณ์ เขียนไว้ในลักษณะเหมือนกับเป็นบันทึกสิ่งที่ได้รับรู้มาแล้วจากคัมภีร์เนตติปกรณ์ เป็นต้น ดังจะเห็นว่า เนื้อหาเกือบทั้งหมดมาจากเนตติ แต่ภาษาที่ใช้นั้น มิได้เน้นความสัมพันธ์ทางหลังภาษาเลย จึงเป็นเหตุให้แปลความหมายยาก
อนึ่ง สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้มองภาพของเปฏโกปเทสปกรณ์ว่า เป็นบันทึกหลักการอธิบายธรรมโดยย่อนั้น ก็คือ รูปแบบการเขียนนั่นเอง เช่นในการกล่าวถึงประเภทของธรรมต่างๆ บางครั้งเปฏโกปเทสไม่ได้จัดลำดับเรียงตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏก แต่เหมือนกับว่าในการเขียนนั้น ท่านจำข้อใดก่อนก็เขียนก่อนซึ่งอาจบางครั้งก็อาจทำให้ความเข้าใจลำดับธรรมะผิดไปได้ เพราะลำดับส่วนใหญ่ในคำสอนของพระพุทธองค์ ได้เรียงตามลำดับการปฏิบัติธรรมหรือทางใดทางหนึ่งตามสภาพความเป็นจริงที่มักจะเกิดขึ้น เช่น ลำดับปฏิสัมภิทา 4 ตถาคตพล 10
ยิ่งไปกว่านั้น ในการยกข้อความจากพระไตรปิฏกเป็นข้ออ้างอิงยืนยันความคิดเห็น เปฏโกปเทสปกรณ์ไม่มีการอ้างอิงมากนัก ซ้ำข้ออ้างอิงที่ยกมานั้นหลายครั้งไม่ตรงกับพระไตรปิฏก ส่วนเนตติปกรณ์ยกข้อความอ้างอิงจากกพระไตรปิฏกมากกว่าและมีความระมัดระวังที่จะคัดลอกให้ถูกต้องตรงตามพุทธพจน์รัดกุมกว่าเปฏโกปเทสปกรณ์
๕. อิทธิพลของเนตติปกรณ์คัมภีร์ที่มีต่องานเขียนอภินวอรรถกถาและฏีกา
บ่อยครั้งที่อรรถกถาจารย์และฏีกาจารย์ได้นำเอกหลักการที่อธิบายในเนตติปกรณ์มาใช้ ซึ่งเท่ากับว่าท่านเหล่านั้นให้ความยอมรับนับถือเนตติเสมือนหนึ่งเป็นพุทธพจน์
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษเถระได้อธิบายความหมายของคำต่างๆเช่น คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา โดยแจกแจงความหมายตามเรื่องลักษณะ ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของเนตติปกรณ์ และได้เพิ่มเรื่องรสเข้ามาใหม่อีกเรื่อง
การสรุปเนื้อหาในแต่ละตอน อย่างที่เนตติปกรณ์เรียกว่าวิธีการแห่งอธิปปายะนั้น ก็เป็นสิ่งที่อรรถกถาจารย์ถือเป็นหลักการเขียนที่สำคัญข้อหนึ่ง
ในการเขียนฏีกาของพระธรรมปาลเถระ ท่านได้ประยุกต์ใช้หลักการหาระ ๑๖ และนยะ ๕ ทั้งหมด ในการอธิบายความหมายของพระสูตรแรกในคัมภีร์ฏีกาแห่งทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย ทั้งนี้ คงเป็นเพราะท่านได้เห็นคุณประโยชน์ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติของวิธีการอธิบายตามแบบในเนตติปกรณ์ ท่านจึงได้อุตสาหะทำเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างสมบูรณ์
๖. ประวัติผู้แต่งคัมภีร์เนตติปกรณ์
๖.๑ ชาติภูมิ
พระมหากัจจายนเถระ เป็นบุตรของกัจจายนพราหมณ์ กัจจายนโคตรบิดาของท่านเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี แต่เดิมท่านมีชื่อว่ากัญจนะ เพราะท่านมีรูปร่างงดงามสมส่วน ส่วนมากนิยมเรียกตามโคตรว่ากัจจายนะ ได้ศึกษาจบไตรเพท ต่อเมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตแทนตำแหน่งของบิดา
๖.๒ เหตุการณ์ก่อนออกบวช
ครั้นพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอน เป็นธรรมที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติตาม มีพระประสงค์อัญเชิญทูลพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุเชนีบ้าง รับสั่งให้กัจจายนปุโรหิตเป็นผู้ไปทูลเชิญพระพุทธองค์ และทูลขอพระบรมราชานุญาติออกบวชพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประทานอนุญาตตามความประสงค์
อุปสมบทในพระพุทธศาสนา
กัจจายนปุโรหิตเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้พาบริวาร ๗ คน เพื่อไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ครั้นไปถึงแล้วได้ฟังธรรมเทศนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาจากนั้นจึงทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังกรุงอุเชนี แต่พระพุทธเจ้าทรงส่งท่านไปแทน พระมหากัจจายนะจึงประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายในกรุงอุเชนีตั้งแต่บัดนั้นมา
๖.๓ ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ
พระมหากัจจายนะเป็นผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศ เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความย่อให้พิสดาร ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อ พวกภิกษุฟังไม่เข้าใจขอให้พระมหากัจจายนะเถระแสดงให้ฟังโดยพิสดาร พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วแต่ตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร
๖.๔ บทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนา
พระมหากัจจายนะเถระเป็นผู้มีบทบาทสำคัญสำคัญในพระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง โดยท่านได้ทูลขอให้แก้พุทธบัญญัติบางประการกล่าวคือเมื่อท่านอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ ใกล้เมืองกุรุฆระในแคว้นอวันตีชนบท อุบาสกซึ่งเป็นอุปัฏฐากชื่อว่าโสณกุฏิกัณณะ มีความปรารถนาจะอุปสมบท แต่ไม่สามารถหาพระสงฆ์ครบกำหนดบททสวรรค(10รูป) ตามพระบรมพุทธานุญาตไว้ ทำให้ต้องบรรพชาเป็นสามเณร 3 ปี ครั้นมีพระสงฆ์ครบบททสวรรคแล้ว จึงได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมาอยากไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาจึงเข้าไปกราบลาพระมหากัจจายนะเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเถระอนุญาตให้ไปได้ และมอบหมายให้กราบทูลพระพุทธเจ้าขอให้พระสงฆ์ปัญจวรรค (๕รูป) อุปสมบทกุลบุตรในปัจจันตชนบทได้พระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาตตามนั้น
๖.๕ ดับขันธ์ปรินิพพาน
หลังจากที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ท่านมหากัจจายนเถระได้ปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสโดยเคร่งครัด ได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา ท่านดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตตภาพแล้ว ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน
พระมหากัจจายนเถระมีอายุยืนยาวมาจนถึงภายหลังพุทธปรินิพพาน นอกจากรจนาเนตติปกรณ์ และเปฏโกปเทสปกรณ์แล้ว ท่านยังมีผลงานในพระสุตตันตปิฎก ที่เป็นเถระภาษิตอีกหลายคัมภีร์ คือ มธุปิณฑิกสูตรในมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์, มธุรสูตรในมัชฌิมปัณณาสก์ และอุทเทสวิภังคสูตรในอุปริปัณณาสก์
๗. โครงสร้างพื้นฐานของเนตติปกรณ์
อนึ่ง เนตติปกรณ์นี้ จัดเป็นปริยัติศาสนา ก็ปริยัติศาสนา ในคัมภีร์นี้ ท่านเรียกว่า “สูตร” ซึ่งสูตรที่ว่านี้แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ พยัญชนะกับอรรถ และใน ๒ ประเภทนั้น พยัญชนะมี ๓ บท แต่ละบทท่านเรียกว่า “สูตร” รวมเป็นสูตร ๑๒ สูตร ก็สูตรนี้เองเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเนตติ
ดังนั้น เนตติ จึงกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องมือหรือเป็นอุบายในการแยกวิเคราะห์พระสูตรกล่าวคือ ปริยัติสัทธรรม เป็นการวางหลักในการศึกษาค้นคว้าวิจัยอรรถหรือความหมายของพระบาลีโดยตรง
วาระใหญ่ ในเนตติปกรณ์ มี ๒ วาระ คือ
๑. สังคหวาระ พระบาลีที่กำหนดขึ้นด้วยคาถาเพียงห้าคาถา แต่ครอบคลุม ความหมายได้ทั้งปกรณ์ จัดเป็นวาระย่อ
๒. วิภาควาระ พระบาลีภาคพิสดาร กำหนดเป็น ๓ ตอน คือ
๒.๑ อุทเทส หมายถึง หัวข้อธรรมที่เป็นแม่บทเริ่มตั้งแต่ “ตตฺถ กตฺเม โสฬส หารา” (เนตฺติ. ๒) ถึง “ภวนฺติ อฏฐารส ปทานิ” (เนตติ. ๓)
๒.๒ นิทเทสหมายถึง ข้อความพิสดารของแม่บทเริ่มต้นตั้งแต่
“อสฺสาทาทีนวตา” (เนตฺติ.๔) ถึง “เตตฺตีสา เอตฺติกา เนตฺติ”(เนตฺติ.๖)
๒.๓ ปฎินิเทส หมายถึง การนำเอานิทเทสมาแสดงให้พิสดาร ซ้ำอีก เฉพาะในที่นี้ มี ๔ อย่างคือ
๒.๓.๑. หารวิภังควาระ
๒.๓.๒. หารสัมปาตวาระ
๒.๓.๓. นยสมุฎฐานวาระ
๒.๓.๔. สาสนปัฎฐานวาระ
ในสี่อย่างนั้น หารวิภังคะกับหารสัมปาตะ มีลักษณะการแสดงที่คล้ายคลึงกันมากโดยมีข้อแตกต่างกันซึ่งพอจะแยกได้ ดังนี้
ในหารวิภังค์ แสดงหาระไว้เพียงหาระเดียว แต่ยกสูตรมาเป็นตัวอย่างหลายๆ สูตร ส่วนในหารสัมปาตะ แสดงการอธิบายสูตรเดียวโดยใช้หาระทั้งหมดไว้ ส่วน ๒ วาระที่เหลือมีวิภาคที่ชัดเจนอยู่ในตัว จึงไม่ก่อให้เกิดความสงสัยแต่อย่างใด
๘. เกร็ดที่ควรรู้เกี่ยวกับเนตติปกรณ์คัมภีร์
เนตติปกรณ์นี้ว่าโดยคำสอนแล้ว ทั้งปกรณ์เป็นหลักการอธิบายไตรสิกขาประดับด้วยเนื้อหาสาระดังนี้
- แสดงทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ
- แสดงวิมุตติ คือ พระนิพพาน
- แสดงหลักการแยกแยะ บทพยัญชนะ และอรรถของนวังคสัตถุศาสน์
- แสดงหลักอธิบายพระปริยัติศาสนาทั้งหมด
- แสดงประเภทของคีติ 3 คือ มูลคีติ อนุคีติ และสังคีติ
- แสดงเนตติ พร้อมทั้งยกอุทาหรณ์ประกอบ
สรุปแล้ว เมื่อดูจากโครงสร้างของคัมภีร์จะเห็นว่า เนตติปกรณ์ เป็นคัมภีร์ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ คล้ายกับเป็นคัมภีร์ไวยากรณ์ เพราะมีสูตรที่วางกฏเกณฑ์ในการอธิบายธรรมมะจากพระไตรปิฏกไว้อย่างสมบูรณ์กล่าวคือประกอบด้วยสูตร วุตติ และอุทาหรณ์
เนตติปกรณ์ จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศที่คอยชี้ว่า ทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติได้เข้าใจพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จนสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน
เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาความเชี่ยวชาญในการแสดงธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาหลักเนตตินี้
เนตติปกรณ์นี้มีมาก่อนสมัยอรรถกถาของพระพุทธโฆสเถระ เพราะในการ พรรณนาบทว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ได้ยกหลักอรรถบท ๖ ประการจากเนตติปกรณ์ มาอ้างไว้ในอรรถกถาของท่าน
๙. เนื้อหาหลักของคัมภีร์เนตติปกรณ์
คัมภีร์เนตติปกรณ์ ได้แสดงหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้ ๓ ประการ ได้แก่
๑. หลักการอธิบายศัพท์ให้เข้าใจ มี ๑๖ หลักการ
๒. หลักการในการเข้าถึงอรรถ มี ๕ หลักการ
๓. หลักการจำแนกพระสูตรโดยประเภทต่างๆเพื่อให้ทราบพุทธประสงค์
๑๐. การลำดับส่วนประกอบคัมภีร์
๖.๑ รูปแบบการนำเสนอ เป็นไปอย่างมีระบบ เริ่มต้นด้วยบทนอบน้อมพระพุทธเจ้า แล้วชักชวนให้ศึกษาคำสอนก่อนนำสู่เนื้อหาสำคัญของคัมภีร์
๖.๒ ลีลาการแต่งคัมภีร์ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
๑) สังคหวาระ เป็นการสรุปประมวลเนื้อหาโดยย่อนำเสนอไว้ในรูปของคาถา ๕ คาถาด้วยกัน แต่ได้สาระครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของคัมภีร์เนตติปกรณ์ ส่วนนี้มีลักษณะเหมือนบทสารบาญที่สรุปสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของเนื้อหาทั้งหมดไว้
๒) อุทเทสวาระ[๒] หมายถึง การยกหัวข้อขึ้นแสดง มีลักษณะเหมือนบทคัดย่อ มีคาถาสลับร้อยแก้ว
๓) นิทเทสวาระ นำเสนอคำจำกัดความของชื่อในแต่ละหัวข้อ
๔) ปฏินิทเทสวาระ หมายถึง การแสดงรายละเอียดโดยพิศดาร โดยการทำรายละเอียดจากนิทเทสวาระ มาอธิบายขยายเพื่อให้ได้รายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นอีก ปฏินิทเทสวาระของคัมภีร์เนตติปกรณ์นี้ จึงประกอบเนื้อหาสำคัญ ๔ ส่วน คือ
(๑) วิภังควาระ[๓]
(๒) สัมปาตวาระ
(๓) นยสมุฏฐาน
(๔) สาสนปัฏฐาน
๖.๓ ส่วนเนื้อเรื่อง แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ
๑. หาระ คือ แนวทางอธิบายรูปศัพท์
๒. นัย คือ หลักวิธีในการอธิบายสภาวธรรมที่เป็นเนื้อความในพุทธพจน์
๓. สาสนปัฏฐาน การแสดงคำสอน เป็นตอนแสดงธรรมตามอัธยาศัยของเวไนยชน
๑๑. รูปแบบการแต่งคัมภีร์
เนตติปกรณ์นี้ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับคัมภีร์ปเทสเปฏโกปกรณ์มาก พระเถระแห่งโจฬรัฐ อินเดียภาคใต้ กล่าวไว้ในคัมภีร์วิมติวิโนทนีว่า เปฎโกปเทสเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาคล้อยตามนัยแห่งเนตติ ของพระมหากัจจายนเถระ แต่นักปราชญ์ชาวยุโรปส่วนมากมีทัศนะว่า เปฎโกปเทสปกรณ์รจนาก่อนเพราะเนื้อหาสำนวนภาษาไม่รัดกุมเหมือนอย่างเนตติปกรณ์ กล่าวได้ว่าเนตติปกรณ์ คือ เปฎโกปกรณ์ ฉบับปรับปรุงใหม่
เนตติ แปลว่า หลักการอธิบายพระพุทธพจน์ เปฎโกปเทส แปลว่า หลักการอธิบายพระไตรปิฎก
คัมภีร์ทั้งสองนี้ มีมาก่อนอรรถกถาของท่านพระพุทธโฆสาจารย์ ได้รับการนำสืบทอดต่อ ๆ กันมา โดยพระธัมมสังคาหกาจารย์ในแต่ละยุค เป็นคัมภีร์คู่มือสำหรับพระธรรมถึกเพื่อใช้ศึกษาแนวการอธิบายหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ เพื่อให้มีหลักในการอธิบายพุทธธรรมได้โดยถูกต้องตามพุทธประสงค์และเป็นปกรณ์ ในรูปของ “สังวัณณนาวิเสส” “หลักการอธิบายนวังคสัตถุศาสน์” ที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งนักปริยัติและปฏิบัติ เป็นคัมภีร์ที่วางหลักมาตรฐานไว้สำหรับใช้สั่งสอนบุคคลให้สามารถบรรลุธรรมตามมุ่งหวังของผู้สอน
๑๒. โครงสร้างละเอียดของคัมภีร์
ประกอบด้วยเนื้อหาหลักหรือข้อหัวใหญ่ๆ คือ
๗.๑ หาระ ๑๖
คือ “หาระ” เป็นส่วนที่แสดงถึงหลักการอธิบายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเป็นหลักการฟังธรรมของผู้ฟัง หลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งผู้ฟังและผู้พูดหรือผู้ตีความ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งสองทาง ทั้งที่เป็นผู้ตีความเองและเป็นการตีความผู้ตีความอีกชั้นหนึ่ง
โดยความหมายตามรูปศัพท์ คำว่า “หาระ” นี้ แปลว่า วิธีการ หลักการ การกล่าวอธิบาย จะพบเห็นคำนี้ที่ใช้ในรูปศัพท์อื่น ๆ ที่มีความหมายว่า การกล่าวอธิบาย เช่น คำว่า “โวหาร” “พรรณนาโวหาร” “อัพโพหาริก”
ดังนั้น หาระจึงเป็นหลักการ ซึ่งถือว่า เป็นกุญแจสำคัญในการกล่าวอธิบายขยายความธรรมให้ถูกต้องตามพระประสงค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า หากนำหลักการดังกล่าวนี้ไปใช้ในการศึกษา ตีความคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าใจ รับรู้ เข้าถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถูกต้องที่สุด เพราะหลักการดังกล่าวนี้ พระมหากัจจายนะเคยใช้อธิบายธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อนแล้ว และที่สำคัญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองว่า การอธิบายธรรมของพระองค์ด้วยหลักการเช่นนี้เป็นการถูกต้องตามพุทธประสงค์ และหากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายด้วยพระองค์เอง ก็จะทรงอธิบายเช่นเดียวกันกับที่พระมหากัจจายนะได้อธิบายนี้เช่นกัน หลักหาระดังกล่าวนี้ จำแนกออกเป็น ๑๖ หาระด้วยกัน คือ
๑. เทสนาหาระ เป็นหลักการอธิบายขยายความพุทธพจน์ โดยจำแนกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็น ๖ ประเด็นด้วยกัน คือ (๑) อัสสาทะ (๒) อาทีนวะ (๓) นิสสรณะ (๔) ผล (๕) อุปาย (๖) อาณัติ
๒. วิจยหาระ หมายถึง หลักการวิจัยหรือวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ
๓. ยุตติหาระ หมายถึง หลักการพิจารณาถึงความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของศัพท์และความหมายของศัพท์ เป็นหลักการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของศัพท์และความหมายที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยหลักหาระทั้งปวง ถือว่าเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการตีความ
๔. ปทัฎฐานหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุใกล้ โดยอนุโลมนัยและปฏิโลมนัย
๕. ลักขณหาระ คือ แนวทางในการแสดงธรรมอื่นที่มิได้กล่าวไว้โดยตรงซึ่งมีลักษณะเสมอกัน
๖. จตุพยูหหาระ คือ แนวทางในการอธิบายวิธี ๔ กลุ่ม ได้แก่ รูปวิเคราะห์ ความมุ่งหมาย เหตุการณ์แสดงธรรม และการเชื่อมโยงพระสูตร
๗. อาวัฎฎหาระ คือ แนวทางในการเวียนไปสู่ธรรมที่เสมอกันและธรรมที่ตรงข้ามกัน
๘. วิภัตติหาระ คือ แนวทางในการจำแนกสภาวธรรม เหตุใกล้และภูมิ โดยทั่วไปและไม่ทั่วไป
๙. ปริวัตตนหาระ คือ แนวทางในการเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามกัน
๑๐. เววจนหาระ คือ แนวทางในการแสดงคำไวพจน์
๑๑. ปัญญัตติหาระ คือ แนวทางในการแสดงบัญญัติ
๑๒. โอตรณหาระ คือ แนวทางในการหยั่งลงสู่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาท
๑๓. โสธนหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบบทและใจความของบท ในคำถามและคำตอบตามสมควร
๑๔. อธิฐานหาระ คือ แนวทางแสดงโดยสามัญทั่วไปและโดยพิเศษ
๑๕. ปริกขารหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุปัจจัย
๑๖. สมาโรปนหาระ คือ แนวทางในการยกขึ้นแสดงด้วยเหตุใกล้ คำไวพจน์ การภาวนา และการละกิเลส
๗.๒ นัย ๕ ได้แก่หลักวิธีในการอธิบายสภาวธรรมที่สำคัญในพุทธพจน์ อันมีอวิชชาเป็นมูลบท โดยจำแนกตามหลักอริยสัจ ๔ ตามสมควร แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑. นันทิยาวัฎฎนัย นัยที่เหมือนการเวียนของดอกกฤษณาที่เวียนจากด้านในไปด้านนอก โดยเวียนจากธรรมฝ่ายหลักไปสู่ธรรมคล้อยตาม
๒. ติปุกขลนัย นัยที่งามด้วนส่วนทั้ง ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ในฝ่ายสังกิเลสและงามด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ในฝ่ายโวทาน
๓. สีหวิกกีฬิตนัย นัยที่เหมือนการย่างกรายของราชสีห์คือพระผู้มีพระภาค เพราะแสดงวิปัลลาสและอินทรีย์ ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวิปัลลาสเหล่านั้น
๔. ทิสาโลจนนัย นัยที่สอดส่องกุศลธรรมเป็นต้น โดยความเป็นหัวข้อหลักแห่งนัย ๓ แรก
๕. อังกุสนัย นัยที่เหมือนตาขอซึ่งเกี่ยวธรรมมารวมกันไว้ในนัย ๓ อย่างแรก
๗.๓ สาสนปัฏฐาน ๑๖ คือ สูตรแสดงคำสอน ๑๖ ดังนี้
๑. สังกิเลสภาคิยสูตร สูตรฝ่ายความเศร้าหมอง แสดงธรรมอันเศร้าหมองมีตัณหาเป็นต้น
๒. วาสนาภาคิยสูตร สูตรฝ่ายการบำเพ็ญบุญ แสดงบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น
๓. นิพเพธภาคิยสูตร สูตรฝ่ายการทำลายกิเลส แสดงกองศีลเป็นต้นของพระเสกขะ
๔. อเสกขภาคิยะสูตร สูตรฝ่ายอเสกขธรรม แสดงกองศีลเป็นต้นของพระอเสกขะ
๕. สังกิเลสภาคิยสูตรและวาสนาภาคิยสูตร
๖. สังกิเลสภาคิยสูตรและนิพเพธภาคิยสูตร
๗. สังกิเลสภาคิยสูตรและอเสกขภาคิยะสูตร
๘. สังกิเลสภาคิยสูตร นิพเพธภาคิยสูตร และอเสกขภาคิยะสูตร
๙. สังกิเลสภาคิยสูตร วาสนาภาคิยสูตร และนิพเพธภาคิยสูตร
๑๐. วาสนาภาคิยสูตรและนิพเพธภาคิยสูตร
๑๑. ตัณหาสังกิเลสภาคิยสูตร สูตรฝ่ายความเศร้าหมองคือตัณหา
๑๒. ทิฏฐิสังกิเลสภาคิยสูตร สูตรฝ่ายความเศร้าหมองคือทิฎฐิ
๑๓. ทุจจริตสังกิเลสภาคิยสูตร สูตรฝ่ายความเศร้าหมองคือทุจริต
๑๔. ตัณหาโวทานภาคิยะสูตร สูตรฝ่ายความหมดจดจากตัณหา
๑๕. ทิฏฐิโวทานภาคิยะสูตร สูตรฝ่ายความหมดจดจากทิฏฐิ
๑๖. ทุจจริตโวทานภาคิยะสูตร สูตรฝ่ายความหมดจดจากทุจริต
๗.๔ สาสนปัฏฐาน ๒๘ คือ สูตรแสดงคำสอน ๒๘ ดังนี้
๑. โลกิยะ
๒. โลกุตตระ
๓. โลกิยะและโลกุตตระ
๔. สัตตาธิษฐาน มีบุคคลเป็นที่ตั้ง
๕. ธรรมาธิษฐาน มีสภาวธรรมเป็นที่ตั้ง
๖. สัตตาธิษฐานและธรรมาธิษฐาน
๗. ญาณ ความรู้
๘. เญยยะ ธรรมที่ควรรู้
๙. ญาณและ เญยยะ
๑๐. ทัสสนะ โสดาปัตติมรรคญาณ
๑๑. ภาวนา ญาณในมรรคเบื้องบน ๓
๑๒. ทัสสนะและภาวนา
๑๓. สกวจนะ พระพุทธพจน์
๑๔. ปรวจนะ คำสอนผู้อื่นนอกจากพระพุทธเจ้า
๑๕. สกวจนะและปรวจนะ
๑๖. วิสัชชนียะ เรื่องที่พึงวิสัชชนา
๑๗. อวิสัชชนียะ เรื่องที่ไม่พึงวิสัชชนา
๑๘. วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ
๑๙. กรรม
๒๐. วิบาก
๒๑. กรรมและวิบาก
๒๒. กุศล
๒๓. อกุศล
๒๔. กุศลและอกุศล
๒๕. อนุญญาตะ ข้ออนุญาต
๒๖.ปฏิกขิตตะ ข้อห้าม
๒๗. อนุญญาตะและปฏิกขิตตะ
๒๘. ถวะ การสรรเสริญพระพุทธคุณเป็นต้น
๑๓. คัมภีร์เนตติปกรณ์โดยสรุป
พระมหากัจจายนเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในทางขยายเนื้อความย่อให้ละเอียดกว้างขวาง ปรารถนาจะช่วยให้คนทั้งหลาย ฟังธรรมแล้วเข้าใจพระพุทธพจน์อย่างแจ่มแจ้ง และสามารถแทงตลอดอริยสัจ ๔ จึงได้แสดงหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้ เรียกว่า “เนตติปกรณ์” หรือคัมภีร์เนตติ ที่ท่านให้เชื่อว่า “เนตติ” เพราะสามารถนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน เนตติปกรณ์นี้ แสดงหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. หาระ หลักการอธิบายศัพท์พยัญชนะ ให้เข้าใจอย่างละเอียดชัดเจน มี ๑๖ หาระ
๒. นัย หลักการในการเข้าถึงอรรถะ มี ๕ นัย
๓. สาสนปัฏฐาน หลักการจำแนกพระสูตรโดยพระเภทต่างๆ เพื่อให้ทราบพุทธประสงค์
แต่ในการดำเนินเรื่องนั้น ท่านจัดระบบไว้ดังนี้ตัวคัมภีร์แบ่งเป็น ๒ วาระหรือ ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
๑. สังคหวาระ คำที่กล่าวโดยย่อ ในฉบับบาลีกล่าวไว้เป็นคาถาเพียง ๕ คาถาเท่านั้น แต่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด
๒. วิภาควาระ เนื้อหาสาระภาคพิสดาร แบ่งเป็น ๓ ตอน
๑) อุทเทส หัวข้อธรรมที่เป็นแม่บท
๒) นิทเทส อธิบายขยายความแม่บท
๓) ปฏินิทเทส นำเอานิทเทสมาอธิบายซ้ำให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น
ปฏินิทเทสนั้นยังแบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
(๑) หารวิภังค์
(๒) หารสัมปาตะ
(๓) นยสมุฏฐาน
(๔) สาสนปัฏฐาน
สำหรับหารวิภังค์กับหารสัมปาตะนั้น มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็มีข้อแตกต่างกันพอสังเกตุได้ดังนี้ ในหารวิภังค์เป็นการแสดงโดยยกหาระขึ้นมาหาระหนึ่ง แล้วนำพระสูตรมาเป็นตัวอย่างหลายสูตร เรียกว่า “แสดงหาระเดียวหลายสูตร” ส่วนในหารสัมปาตะ เป็นการแสดงโดยยกพระสูตรขึ้นมาสูตรหนึ่ง แล้วอธิบายโดยหาระต่าง ๆ หลายหาระ เรียกว่า “แสดงสูตรเดียวหลายหาระ”
เนตติปกรณ์จัดอยู่ในชั้นพระบาลีหรือพระไตรปิฎก ที่เป็นเถรภาษิต แต่ก็มีลักษณะเหมือนอรรถกถาด้วย เพราะเป็นคัมภีร์อธิบายขยายความพระบาลีพุทธพจน์ ประเภทสังวรรณนาพิเศษ มีการวางกฎเกณฑ์ไว้เป็นสูตรเหมือนไวยากรณ์ ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเนตติปกรณ์นี้เป็นอรรถกถารุ่นแรก ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นต้นแบบของคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาทั้งหลายในภายหลัง เนตติปกรณ์นี้มีคัมภีร์บริวารอยู่หลายคัมภีร์ เช่น เนตติอรรถกถา เนตติฎีกา เนตติวิภาวินี เป็นต้น เนตติอรรถกถา เป็นคัมภีร์ที่อธิบายขยายความเนตติปกรณ์ รจนาโดยพระธรรมปาลเถระ แห่งสำนักพุทธติตถวิหารอินเดียภาคใต้ เนตติฎีกา อธิบายเนตติอรรถกถาอีกทอดหนึ่ง เป็นผลงานของพระธรรมปาลเถระเช่นเดียวกัน ส่วนเนตติวิภาวินี อธิบายขยายความทั้งเนตติปกรณ์และเนตติอรรถกถา รจนาโดยพระสัทธรรมปาละมหาธรรมราชคุรุ ซึ่งเป็นพระเถระชาวพม่า (ราว พ.ศ. ๒๑๐๘) ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาของไทย
๑๔. องค์ความรู้ใหม่จากการศึกษาคัมภีร์
ทำให้สามารถรู้ว่ารูปแบบการวิจัยในคัมภีร์เนตติปกรณ์เป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการวิจัยในวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้อย่างเป็นระบบ และถูกต้องตามไวยากรณ์การคิดของพระพุทธศาสนาและสามารถที่จะรักษาความหมายของพระพุทธพจน์ได้อย่างแม่นยำ แม้เป็นคัมภีร์รุ่นเก่า แต่เป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับผู้ศึกษา ทำให้ผู้ศึกษารู้ว่าในโลกวิชาการทางพระพุทธศาสนานั้น มีเส้นขอบพรมแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก และที่สำคัญทำให้ได้รู้ว่ามีรูปแบบการวิจัยที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเรามาแต่ดั้งเดิม
๑๔. วิธีการการประยุกต์หลักในคัมภีร์เนตติปกรณ์ใช้กับงานวิจัย คือ
การจะวิจารณ์หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก จะต้องมีความรู้พื้นฐาน ๔ ประเภท คือ
๑. รู้บาลีพระไตรปิฎกดี (สพยญฺชนํ) เพื่อที่จะเป็นหลักในการตีความคำสอนให้ตรงกับความหมายดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า
๒. รู้ความหมายพระไตรปิฎกดี (สาตฺถํ) คือต้องอ่านคำสอนที่ท่านแปลจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาของตน เช่น พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทย พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคำอธิบายที่เรียกว่า อรรถกถา
๓. มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ดี โดยเฉพาะในแง่ ประยุกตวิทยา (Technology) อย่างน้อยที่สุดก็สามารถจับประเด็นหลักของวิทยาการนั้นๆ ได้ว่า ด้วยเรื่องอะไร สามารถนำมาเทียบเคียงสงเคราะห์กับพุทธธรรมได้ในแง่ใดบ้าง
๔ มีจิตใจเปิดกว้าง (open mind) ตามแนวกาลามสูตร ที่ว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา ฯลฯ ผู้นี้เป็นครูของเรา สามารถจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยจิตเยือกเย็น และตอบโต้ได้อย่างมั่นคงและด้วยเหตุด้วยผลจากการปฏิบัติของตนเอง
เมื่อมีความรู้พื้นฐานแล้วก็ต้องมีหลักในการวิจารณ์ คือ ใช้หลักหาระ, นัย, สาสนปัฏฐานเป็นกรอบต้นแบบ ดังนี้
๑. ตั้งข้อสงสัย (ปุจฉา) ว่าสิ่งนั้น คืออะไร ? มาจากไหน ? เพื่ออะไร ? และโดยวิธีใด ? ตามหลักวิจยหาระ
๒. ค้นคว้าหาคำตอบตามแนว ธรรมวินัย คือ วิจัยธรรมเพราะธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้นมีคุณลักษณะหนึ่ง คือ เอหิปสฺสิโก คือ เชิญมาดู เชิญมาพิสูจน์ค้นคว้าทดลองปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุด คือ การรวบรวมข้อมูลอันเกี่ยวกับธรรมด้านนั้นๆ ว่า มีอยู่ที่ใดบ้าง มีคำอธิบายเดิมอย่างไร และจะนำมาตีความกับโลกยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างไร สามารถหาข้อยุติปัญหาได้ด้วยหลักจตุพยูหหาระ ซึ่งเป็นแนวทางในการอธิบายวิธี ๔ กลุ่ม ได้แก่ รูปวิเคราะห์ ความมุ่งหมาย เหตุการณ์แสดงธรรม และการเชื่อมโยงพระสูตร แล้วใช้หลักตรวจสอบ คือ หลักยุตติหาระ ซึ่งเป็นหลักการพิจารณาถึงความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของศัพท์และความหมายของศัพท์ เป็นหลักการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของศัพท์และความหมายที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยหลักหาระทั้งปวง ถือว่าเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการตีความ
๓. หาข้อสรุป หาข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น อย่าหาข้อสรุปที่มุ่งเอาแพ้เอาชนะอย่างเดียว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน “อลคัททูปมสูตร” ว่า การศึกษาวิจารณ์นั้นมี ๓ แบบ คือ
๑) ศึกษาเพื่อข่มผู้อื่น เอาชนะผู้อื่น อย่างนี้เป็นศึกษาการวิจารณ์ที่เรียกว่า งูพิษ ทำให้เกิดการโทษแก่ตนเอง
๒) ศึกษาวิจารณ์ เพื่อหาแนวทางให้เกิดการออกไปจากทุกข์ เพื่อให้เกิดการดับทุกข์ แนวธรรมสากัจฉา ก็อาศัยแนวนี้ จึงเกิดมงคลแก่ผู้สนทนาธรรม และทำให้พ้นทุกข์ได้ เป็น นิสสรณปริยัติ
๓) ศึกษาวิจารณ์ เพื่อเป็นตัวอย่างผู้อื่น เพื่อให้เกิดแนวคิดกระตุ้นแรงเร้าในการปฏิบัติธรรมแก่ศิษย์และรุ่นน้องๆ เรียกว่า แบบเรือนคลังภัณฑาคาริก ปริยัติ
๑๕. ประโยชน์ในการค้นคว้าข้อมูล
คัมภีร์เนตติปกรณ์นี้ เป็นกุญแจไขพระไตรปิฎก คือ ช่วยอธิบายขยายความพระไตรปิฎกอย่างมีหลักเกณฑ์และมีวิธีการที่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นคัมภีร์ที่ช่วยรักษาพระพุทธพจน์ไว้ไม่ให้คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปหากเราละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับคัมภีร์ที่โบราณาจารย์ได้รจนาไว้เหล่านี้ ก็จะเกิดการตีความ ขยายความพระพุทธพจน์เอาเอง เหมือนวิชาแต่งกระทู้ธรรม เมื่อยกพระพุทธพจน์บทใดบทหนึ่งขึ้นมาแล้วก็อธิบายกันไปสิบคนก็สิบอย่าง หนังสือตำราพุทธศาสนาที่นิยมศึกษาอันมีอยู่ในปัจจุบันจึงมักแบ่งไปตามสายของอาจารย์ต่าง ๆ ถ้าชอบคำอธิบายของอาจารย์ใด ก็ยึดถือว่าอาจารย์นั้นสอนถูก อาจารย์อื่นสอนผิด แม้พระไตรปิฎกก็ผิด ถ้าขัดแย้งกับคำสอนของอาจารย์หรือสำนักของตน
-----------------------------------------------------------------------------------------------
หนังสืออ้างอิง
มหากจฺจายนเถร. เนตฺติ-เปฏโกปเทสปกรณํ. คุณารักษ์ นพคุณ. เนตติปกรณ์ แปล.
กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
พระคันธสาราภิวงศ์. เนตติปกรณ์ แปล. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรายวันการพิมพ์
, ๒๕๕๐.
คุณารักษ์ นพคุณ. เนตติปกรณ์แปล และ เนตติสารัตถทีปนี. กรุงเทพมหานคร : หจก.ทิพยวิสุทธิ์,
๒๕๔๔.
จำรูญ ธรรมดา เรียบเรียง. เนตติฏิปปนี. กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๖.
[๑] มหากจฺจายนเถร, เนตฺติ-เปฏโกปเทสปกรณํ, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕) และฉบับแปลเป็นภาษาไทย คือ พระคันธสาราภิวงศ์, แปล. เนตติปกรณ์, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐). คุณารักษ์ นพคุณ, เนตติปกรณ์แปล และ เนตติสารัตถทีปนี, (กรุงเทพมหานคร : หจก.ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๔๔). และ จำรูญ ธรรมดา, เรียบเรียง, เนตติฏิปปนี, (กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๖) จำรูญ ธรรมดา, เรียบเรียง, เนตติฏิปปนี, (กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์,๒๕๔๖), หน้า ๒.
[๒] สามข้อหลังนี้เรียกว่า วิภาควาระ เป็นส่วนการอธิบาย จำแนกเนื้อหาโดยละเอียด ซึ่งจะประกอบด้วย รูปแบบการอธิบาย เรียกว่า เทส คือ การแสดง ๓ ส่วนของการนำเสนอ.
[๓] ซึ่งวิภังควาระกับสัมปาตวาระะมีความแตกต่างกัน คือ วิภังควาระเป็นการอธิบายพระสูตรหลายสูตรด้วยหาระเดียว แต่สัมปาตวาระเป็นการกล่าวแสดงพระสูตรเดียวด้วยหลายหาระ.
สุดยอด
ตอบลบขอขอบคุณที่นำบทความลักษณะนี้มาโพสต์ ได้ความรู้ครับ
ตอบลบ