อภิปรัชญาหมายถึงอะไร และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร ?
1.1. ความเป็นมาของอภิปรัชญา
เมื่อยุคเหตุผลได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2- 3 พันปีผ่านมา มนุษย์เสื่อมศรัทธาจากแนวคิดเรื่องพระเจ้าเป็นซึ่งถือว่าปฐมเหตุของสรรพสิ่งในสมัยนั้น และพากันตั้งข้อสงสัยใหม่ว่า ปฐมเหตุของสรรพสิ่งไม่น่าจะเป็นพระเจ้า น่าจะเป็นธรรมชาติมากกว่า ต่างก็พยายามคิดหาคำตอบ ที่แตกต่างกันไปต่าง ๆ นา ๆ เช่น น้ำ อากาศ ไฟ และปรมาณูเป็นต้น ในระยะแรก ๆ แนวความคิดอาจหยาบจนมีช่องโหว่ให้คนรุ่นหลังโต้แย้งได้เรื่อย ๆ ละเอียดอ่อนขึ้นจนถึงขั้นที่คิดวิเคราะห์สิ่งที่เป็นนามธรรมได้ว่าเป็นต้นตอ ของสิ่งที่เป็นรูปธรรม นี่คือวิวัฒนาการของกระบวนการค้นหาความแท้จริงซึ่งคนโบราณเรียกกันว่า ภววิทยาบ้าง ปฐมปรัชญาบ้าง จักรวาลวิทยาบ้าง และโลกวิทยาบ้าง สุดแต่รายวิชาที่เกี่ยวข้อง และอีกหนึ่งที่มาของคำว่า อภิปรัชญา ซึ่งแปลตามตัวว่า ปรัชญาอันยิ่ง หรือปรัชญาชั้นสูง เป็นคำที่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทารงคิดขึ้นเพื่อใช้แทนคำ metaphysics โดยทรงคิดเทียบเคียบกับคำ อภิธรรมปิฎก ส่วนเหตุผลที่ทรงคิดบัญญัติคำนี้ขึ้น ทรงอธิบายไว้ว่าคำ (metaphysics) นั้นจะแปลตามมูลศัพท์ไม่ได้ เพราะเป็นคำซึ่งผูกขึ้นเนื่องมาจากเหตุบังเอิญ คือข้อความที่อาริสโตเติลแสดงในเรื่อง หลักมูลแห่งวิชาความรู้ ที่เรียกว่า First Philosophy นั้น บังเอิญอยู่หลังตอนที่แสดงเรื่องฟิสิกส์ ฉะนั้น การหาคำแปลจึงต้องหาคำซึงมีความหมายถึง First Philosophy ในพระไตรปิฎก ซึ่งว่าด้วยเนื้อความอย่างยิ่ง ฉะนั้น โดยทำนองเดียวกัน First Philosophy ก็อาจแปลได้ว่า อภิปรัชญาด้วยเหตุนี้จึงได้แปล metaphysics ว่า “อภิปรัชญา” นั่นคืออภิปรัชญา ก็คือ First Philosophy ของอาริสโตเติล และ First Philosophy ก็คือ metaphysics ปัญหาและที่มาของคำว่า metaphysics คือ
1.2. Metaphysics มีความเป็นมาอย่างไร ?
เมื่อประมาณก่อน ค.ศ. 70 แอนโดรนิคุสแห่งเกาะโรดส์ (Androicus of rodes) ผู้ทำหน้าที่รวบรวมผลงานของอาริสโตเติล ไว้เป็นหมวดหมู่ ได้จัดเรียงผลงานที่มีลักษณะเป็น ปรัชญาที่เรียกว่า First Philosophy ไว้หลังผลงานปรัชญา ธรรมชาติ Natural Philosophy
กล่าวอีกอย่างก็คือ แอนโดรนิคุสได้เรียงผลงานของอาริสโตเติล ที่มีลักษณะเป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ในฐานะเป็นสิ่งจริงแท้ ตามสภาพที่มันเป็นอยู่นั้น หรือเรื่อง (abstraction) ไว้หลังผลงานที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์กายภาพ (physics) ต่อมานิลาโคอุส (Nicolaus) แห่งดามัสกัสได้เรียก First Philosophy นั้นว่า tameta phisika แปลว่า “มาทีหลัง” physika
ดังนั้น คำว่า meta อาจมีความหมายแยกออกเป็น 2 ประเด็นคือ
- มีผู้แปลคำว่า metaphysika ว่าหมายถึงผลงานกองถัดไปบ้าง
- แปลว่า วิชามาภายหลังฟิสิกส์ (comes after physics ) บ้าง
- แปลว่าวิชาที่อยู่เหนือฟิสิกส์ (beyondphysics ) บ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า metaphysics ก็ยังหมายถึง First philosophy อยู่นั้นเอง.
ในการศึกษาวิชาปรัชญาเดิมนั้น ไม่ได้แบ่งออกเป็นสาขาต่าง ๆ ยังคงศึกษาร่วมกันไป ดังนั้นคำว่า metaphysics จึงหมายถึงปรัชญาทั้งหมดเพราะวิชาปรัชญาเป็นวิชาแรกของโลก
อภิปรัชญาระยะเริ่มแรก ได้แบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ (First Philosophy)
1.2.1 Ontology = ภววิทยา
1.2.2 Cosmology = จักรวาลวิทยา
1.2.3 Epistemology= ญาณวิทยา
1.3. ความหมายของอภิปรัชญา
นักปรัชญาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของอภิปรัชญาไว้ต่าง ๆ กันจึงขอนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เฉพาะทรรศนะที่น่าสนใจดังนี้
อภิปรัชญาถ้าแปลตามรากศัพท์ภาษาสันสกฤต ก็หมายถึง ความรู้อันประเสริฐยิ่งซึ่งมาจากรูปศัพท์คือ อภิ (ยิ่งใหญ่) + ปร (ประเสริฐ) + ชญา (ความรู้) = อภิปรัชญา แปลว่า ความรู้อันประเสริฐยิ่ง หรือยิ่งใหญ่ ในความหมายของทางศาสนาพุทธ คำว่าความรู้อันประเสริฐนั้นหมายถึงความรู้ที่ไม่มีความสงสัย เป็นความรู้ที่ได้จากการ ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าที่เป็นระบบเบ็ดเสร็จแล้ว เช่น มรรคมีองค์ ๘, อริยสัจจ์ ๔, และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
แต่อภิปรัชญาในความหมายของปราชญ์เมธีทางตะวันตกส่วนมากที่แปลตามความหมาย (metaphysics) ก็คือ สิ่งที่อยู่เหนือการพิสูจน์ หรือเหนือการสัมผัสได้ ทางอินทรีย์ ๕ และยังเป็นสิ่งที่กังขา รอการหาคำตอบที่ชัดเจนอยู่ เรียกว่า อภิปรัชญา .
หรือถ้าพิจารณาตามเนื้อหาที่วิชาปรัชญาศึกษาก็เห็นว่าแบ่งออกเป็น 3 สาขาคือ จะเห็นความหมายที่แตกต่างกันดังนี้
(1) สาขาอภิปรัชญา = ศึกษาปัญหาเรื่องโลก จักรวาล พระเจ้าแ ละจิตซึ่งมีความสงสัยว่า
(what is reality) ? อะไรคือ ความจริง ?
(2) สาขาญาณวิทยา = ศึกษาเรื่องกำเนิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และวิธีการตรวจสอบความรู้ (How to know reality) ? จะรู้ความจริงได้อย่างไร ?
(3) สาขาคุณวิทยา = จริยศาสตร์ ศึกษาปัญหาเรื่อง ความดี, เป้าหมายของชีวิต, และเกณฑ์การตัดสินปัญหาเรื่องความดีและความชั่ว (How to act according to reality) เราพึงประพฤตตนอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับความแท้จริง ? และอีกนัยหนึ่ง อภิปรัชญาพยายามตอบปัญหาที่ว่า อะไรคือความจริงอันติมะ (What is ultimate reality )?
สรุปว่า: วิชาที่ว่า อภิปรัชญา หรือเมตาฟิสิกส์นี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ความหมาย และมีคำไวพจน์ หรือคำแทนชื่อ 4 คำคือ
(1). อภิปรัชญา (2). ความรู้ขั้นปรมัตถ์
(3). Metaphysics (4). อตินทรีย์วิทยา
โดยทั่วไปถือกันว่า อภิปรัชญาเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาซึ่งว่าด้วยปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับสภาพของโลกและฐานะของมนุษย์ แต่มีผู้ทักว่านิยามนี้กว้างเกินไป เพราะปรัชญาเองก็อาจนิยามเช่นนี้ได้ด้วย แล้วเสนอนิยามที่แคบกว่านี้ว่า อภิปรัชญาคือ การศึกษาเรื่องภาวะหรือสัตว์ (Being) และความมีอยู่ (existence) คือศึกษาถึงภาวะทั่วไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ของสิ่งทั้งหลาย นอกเหนือไปจากที่วิทยาศาสตร์แต่ละสาขาศึกษาได้
ตามประวัติของปรัชญาตะวันตกปรากฏว่าบางครั้งอภิปรัชญาถูกกล่าวหาว่าเป็นนักขี้สงสัยหรือถูกปรักปรำว่า เป็นการศึกษาปัญหาไร้ประโยชน์และหาสารประโยชน์อะไรไม่ได้เลยเช่น
ค้านท์ (Kant) เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่าอภิปรัชญาคือการศึกษาทางวิภาษวิธีและกลลวง (a dialectical and deceptive study ) หนังสือ (Ritique of pure reason) ของท่านถือเอาเรื่องการวิพากษ์อภิปรัชญาและกลลวงของอภิปรัชญา เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในช่วงเวลา 10 ปี นับจาก พ.ศ.2470 – 2480 ปรัชญาของอังกฤษและอเมริกาได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก จาก ปฏิฐานนิยม (positivism) จึงถือว่าอภิปรัชญาไม่ใช่การศึกษาที่ถูกต้อง
ในช่วงเวลา 10 ปี นับจาก พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๐ บรรยากาศของอภิปรัชญาก็ค่อย ๆ ดีขึ้น แม้ในอังกฤษก็มีทฤษฎีใหม่ หลายทฤษฎีต่างถือว่า ปัญหาทางอภิปรัชญาเป็นปัญหาอันดับรอง คือไม่ใช่ปัญหาอันดับแรกเช่น ทฤษฎี เหล่านี้จะถามกันว่า ข้อความของอภิปรัชญา เป็นข้อความชนิดไหน ไม่ใช่ถามว่า อภิปรัชญาคืออะไร ให้ต่างและดีกว่าโลกที่เราประจักษ์เช่น อภิปรัชญาไตร่ตรองของ ปาร์มิเดส ที่ถือว่า โลกปรากฏแก่เราว่าเปลี่ยนแปลงและมีหลายสิ่ง หลายอย่างอยู่ในโลก แต่ตามความเป็นจริงแล้วโลกนี้คงที่และมีอย่างเดียว.
1.4. ลักษณะปัญหาทาง อภิปรัชญา
ปัญหาทางอภิปรัชญาหลัก ๆ ก็คือสิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสหรือ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่น คำถามที่ว่า
(1). พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลกจริงหรือ
(2). สิ่งแรกที่เป็นต้นตอของสรรพสิ่งคือพระเจ้าหรือธาตุ
(3). ปฐมธาตุของสรรพสิ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
(4). ปฐมธาตุของสรรพสิ่งคือน้ำ
(5). สสารเป็นผลพลอยได้ของจิต
(6). ผี สาง เทวดา มีจริงหรือไม่
(7). นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่
(8). วิญญาณเป็นอมตะใช่หรือไม่
(9). อิเล็กตรอน โปรตอน เป็นอนุภาคสุดท้ายของสสาร
(10). ปรมาณูทางจิต เป็นอนุภาคสุดท้ายของสสาร
คำถามเหล่านี้คือ ปัญหาของอภิปรัชญาที่ยังเฝ้าคอยรอคำตอบ มานานนับหลายพันปีแต่ก็ มี. 1.5. ความแตกต่างระหว่างอภิปรัชญา ศาสนาและวิทยาศาสตร์
อภิปรัชญาและวิทยาศาสตร์ต่างกับศาสนาตรงที่ การศึกษาเริ่มต้นด้วยความสงสัยเป็นพื้นแต่ศาสนาศึกษาเริ่มต้นด้วยความศรัทธาเป็นพื้น และศาสนาดำเนินการด้วยพิธีกรรมและการปฏิบัติตามหลักของศาสดานั้น ๆ แต่วิทยาศาสตร์ดำเนินการด้วยการทดลองแล้ว ๆ เล่า ๆ เพื่อเค้นหาสิ่งที่ต้องการและอภิปรัชญาดำเนินการด้วยการคิดและทกเถียงสนทนาด้วยการวิเคราะห์, การสังเคราะห์และการ วิพากษ์วิจารณ์ประเมินค่าส่วนเป้าหมายของอภิปรัชญา ก็คือ รู้เพื่อรู้ ส่วนวิทยาศาสตร์รู้เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีพและศาสนานั้นเป้าหมายเพื่อความสุข ทางจิตใจ เพื่อจะได้ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อถึงความหลุดพ้น ฯลฯ.
1.6. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร
อภิปรัชญาเป็นเมื่อดูโดยไม่ได้ใช้การใคร่ ควนแล้ว ก็เหมือนเป็นเรื่องของอุดมคติ ที่เกินความจำเป็นที่จะเข้าไปมีคุ้นเคยด้วยเลย หรือเหมือนชาวบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชนทั่วไปเห็นตู้หนังสือพระไตรปิฎกอันเป็นคลังแห่งปริยัติธรรม แต่เขาก็คงคิดว่าอยู่คนละมิตินั่นดีแล้ว เพราะเกินความต้องการที่จะเข้าไปรู้จัก แท้ที่จริงแล้วอภิปรัชญาก็เช่นเดียวกัน ถ้ารู้จักนำมาประยุกต์ใช้ก็ทำให้เกิดผลได้อย่างเนอกปริยาย ที่จะกำหนดให้หมดสิ้นได้ อย่างเช่นผู้รู้ต้นไม้อย่างถ่องแม้เหมือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็เห็นว่าต้นไม้ใบหญ้าทั่วปริมณฑล ๓ โยชน์เมืองตักศิลา เขาไม่เห็นมีต้นไม้ชนิดใดที่ไม่มีคุณค่าต่อการพยาบาลคนไข้ได้ เลยแม้สักต้นเดียว
ดังนั้น อภิปรัชญาก็เป็นแปรนหรือแผนที่ ๆ เราทุก ๆ คนที่คงต้องได้รู้ เพราะโลกใบนี้ถึงแม้ว่าจะมีวิชาต่าง ๆ ที่ต้องให้เราต้องศึกษามากมายแต่เมื่อย่นย่อลงหน่อยก็มีเพียง 2 วิชานั่นก็คือ วิชาที่ว่าด้วยการครองชีพ หรือเทคนิคต่าง ๆ ที่จะพอเป็นวิชาทำมาหากิน เลี้ยงปากท้อง ฯลฯ และวิชาที่ให้ความสุขทางใจหรือ เป็นสะลัก ลิ่มของจิตใจ ไม่ให้ห่อเหี่ยวและสดใสอยู่ได้
เพราะ ฉะนั้นอภิปรัชญาเมื่อประมวลลงโดยสังเขปแล้วสามารถประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันดังนี้ ในการดำรงชีพและประพฤติปฏิบัติ จารีตประเพณี หรือในวิถีชีวิต (The ways of life ) นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บรรพบุรุษของเราเคยพร่ำสอนว่าในครอบครัวของเราถ้าเราไม่ก่อการทะเลาะวิวาท เคารพนับถือบิดามารดา เชื่อฟังถ้อยคำของ คนเฒ่าคนแก่ จะทำให้ ครอบครัวนั้น ๆ อยู่สุขสบาย เพราะมีเทวดาคุ้มครอง ป่าไม้ ภูเขา ที่เปลี่ยวหนาและต้นน้ำ ลำธาร บนขุนเขาย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธ์และเจ้าที่คอยปกป้องคุ้มครอง จึงทำให้ครอบครัวและป่าไม้ได้รับความชุ่มเย็นเรื่อยมาได้หลายร้อยปีเพราะมีมนุษย์ยังมีความ เกรงกลัว แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่มีความเชื่อกับสิ่งเหล่านี้ คือไม่เชื่อว่าบิดามารดา มีอุปการคุณต่อลูก ๆ ไม่เชื่อว่ามี ผีสาง เทวดา ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีหรือไม่มี ไม่เชื่อนรกมี สวรรค์มี เมื่อมารดาตั้งครรภ์ขึ้นมาก็เห็นว่าเป็นภาระจะทำแท้งหรือทารุนอย่างไรก็ได้เพราะสิทธิของฉัน หรือพ่อแม่ที่ชราภาพแล้วลูก ๆ เห็นว่าน่ารำคาญ เมื่อลับตาคนหรือคิดว่ากฎหมายเอาผิดไม่ได้ก็ฆ่าทิ้งเสีย แล้วบ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร เหตุนี้เองการใช้อภิปรัชญาแม้จะอยู่เหนือการสัมผัสแต่ก็สามารถนำมาพร่ำสอนและเป็นวิทยายุทธ์ ให้ความสุขอยู่ ไม่น้อยเลย
และประโยชน์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของอภิปรัชญาก็คือ การสร้างองค์กรทางสังคมบนพื้นฐานบางอย่าง ที่มั่นคงเนื้อหาปรัชญาที่เกี่ยวข้อง บางส่วนขึ้นอยู่กับทางสังคมแต่ละสถาบันจะต้องมีการออกกฎระเบียบเพื่อที่สร้างหลักประกันที่มั่นคงในระเบียบดังกล่าวจะมีการระบุถึงปรัชญาไว้ไม่ได้โดยนัยก็ระบุโดยตรง เช่น มีหลายประเทศพยายามที่จะลอกเลียนแบบระบบประชาธิปไตย ของประเทศที่ประสบผลสำเร็จเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ไปใช้ในประเทศของตนบ้าง แต่กลับล้มเหลว ทั้งนี้เนื่องจากว่าพวกเขารับไปแต่วิธีการปฏิบัติและรูปแบบเท่านั้น โดยไม่ได้ดูดกลืนเอาปรัชญาประชาธิปไตยไปด้วยพวกเขายึดตามหลักประชาธิปไตย แต่ไม่ได้พยายาม ที่จะเข้าใจ ประชาธิปไตยเสียบ้างเลย การที่จะนำประชาธิปไตยไปใช้อย่างได้ผลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะเข้าใจปรัชญาประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้
ฉะนั้น อภิปรัชญาจึงยังมีความจำเป็นอยู่มากสำหรับการอธิบายถึงจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง การดำเนินชีวิต กฎเกณฑ์ทางสังคม และเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม อภิปรัชญาจึงเป็นเหมือนปุ๋ยอินทรีย์และน้ำสำหรับเติมเต็ม สิ่งที่สังคมยังพร่องให้ดูดีอีกต่อไป.
2. สัจนิยม (Realism)
2.1. ความหมาย สัจนิยม
คำว่า สัจนิยมหมายถึงทฤษฎีที่ถือว่าโลกภายนอกเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงและเป็นสิ่งที่มีอย่างอิสระจากจิตของมนุษย์ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ใน ทาง ประวัติศาสตร์จากเหตุผลอันนี้ สัจนิยม บางครั้งเราก็เรียกว่าวัตถุวิสัยนิยม (Objectivism) สัจนิยม และวัตถุวิสัยนิยม ทั้งสองเป็นทฤษฎีอภิปรัชญา ที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ในทางญาณวิทยา สัจนิยมถือว่าในกระบวนการของความรู้ วัตถุเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอิสระและมีอยู่โดยปราศจากการรับรู้ของผู้รู้ ดังนั้นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้ในขอบเขตของญาณวิทยาถือว่าวัตถุและคุณภาพของสัตถุทุกชนิดเป็นสิ่งที่มีอย่างอิสระปราศจากการรับรู้ของผู้รู้และกระบวนการของความรู้ แต่เป็นสิ่งที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสและเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงตามสภาพของมัน
ที่นี้ คำว่า Real Reality & Realism คำว่า Real หมายถึงสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่แท้จริงโดยระบุถึงสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ ที่มีอยู่ตามสภาพของมันซึ่งตรงกันข้ามกับการจินตนาการณ์ ดังนั้น คำว่า Real จึงหมายถึงสิ่งที่มันเป็นจริง
คำว่า Reality คือสภาวะหรือคุณภาพของสิ่งที่มีอยู่ หรือดำรงอยู่อย่างแท้จริงซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นเพียงปรากฏการณ์ คือ (มีอยู่ชั่วคราว)
คำว่า Realism ตามความหมาย ที่นิยมกันทั่วไป อาจหมายถือเฉพาะเจาะจงข้อเท็จจริงตามแต่กรณี ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราปรารถนาหรือสิ่งที่เราต้องการ
อย่างไรก็ตามในทางปรัชญา คำว่า Realism เรานำมาใช้ ในความหมายทางวิชาการกันมาก ดังนั้น คำว่า Realism ในความหมายปรัชญาคือ สิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงตามสภาพของมัน และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านั้นมีอยู่อย่างแท้จริงอย่างอิสระจากการรับรู้หรือรับทราบของจิตแต่ยังมีนักสัจนิยมหลายคนยืนว่า ปรากฏการณ์ ทางจิตและปรากฏการณ์ทางกายถูกถือว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ต่างหากจากการรับรู้ของจิต
2.2. ลักษณะของ สัจนิยมทั่วไป
(1). สสาร เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอิสระจากความรู้ สสารมิได้มีอยู่เพราะมันถูกรู้ จิตจะรับรู้หรือไม่ก็ตามสสารก็มีอยู่อย่างนั้น
(2). สสาร มีคุณภาพเป็นของตนเองสสารแต่ละชนิดมีคุณภาพเป็นของตัวเองและลักษณะการมีอบยู่ของสสารก็มิได้ขึ้นอยู่กับผู้รู้แต่อย่างใดคุณภาพทั้งหมดของสสารมีอยู่อย่างอิสสรเช่นเดียวกับสสาร.
(3). ความรู้ มิได้มีอิทธิพลเหนือสสารแต่ประการใดความรู้เรื่องสสารหรือคุณภาพของสสารมิได้มีอิทธิพลใด ๆ เหนือสสารหรือคุณภาพของสสารแลกะความรู้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสสารแต่อย่างใด.
(4). สสารเป็นสิ่งมีอยู่ตามที่ปรากฏไม่มีความแตกต่างระหว่างรูปแบบและธรรมชาติของ สสารเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามที่มันปรากฏโดยทำนองนี้ จึงไม่มีความแตกต่างระหว่างความจริงเรื่องสสารและประสบการณ์เกี่ยวกับสสาร.
(5). สสารเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้โดยตรงเรารู้สสารโดยตรงกล่าวอีกอย่างไม่มีอะไรเข้าไปขัดขวางระหว่างสสารและความรู้เกี่ยวกับสสาร ๆ เป็นเนื้อหาแห่งประสบการณ์ของเราและการได้รู้สสารตามที่มันมีอยู่.
(6). สสารเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปความรู้เรื่องสสารมิได้ถูกจำกัด เฉพาะบุคคลใด บุคคลหนึ่ง บุคคลจำนวนมากสามารถมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสสารชนิดเดียวกันเพราะฉะนั้นสสารชนิดเดียวกันสสารและความรู้เกี่ยวกับสสารจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยทั่วไป.
2.3. ลัทธิสัจนิยมทั่วไป
ลัทธินี้ ถือว่าสิ่งภายนอกตัวเรามีจริงมีอยู่ด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับจิตความรู้คือการถ่ายแบบ สิ่งภายนอกพร้อมทั้งคุณสมบัติทุกอย่างของมันเข้าไปในจิต การถ่ายแบบมีลักษณะเหมือนกับการจำแผนภูมิ หรือจำรูปเรขาคณิตสิ่งภายนอกหรือสสารเป็นวัตถุวิสัยมีคุณภาพ 2 ชั้นคือ คุณภาพปฐมภูมิกับคุณภาพทุติยภูมิ คุณภาพปฐมภูมิเป็นคุณภาพโครงสร้างของสสารเช่น การกินที่ การเคลื่อนที่ น้ำหนัก รูปทรง ขนาด ปริมาณ การหยุดนิ่ง เป็นต้น ส่วนคุณภาพทุติยภูมิซึ่งเราจะรับรู้มันได้ทางประสาทสัมผัส.
2.4. ลัทธิสัจนิยมทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร ?
จอห์น ลอค (John Locke) เป็นผู้ก่อตั้งลัทธินี้เขาถือว่าความรู้คือการถ่ายแบบเช่นกัน แต่คุณภาพปฐมภูมิเท่านั้นที่จะถ่านแบบเข้าไปในจิตได้ส่วนคุณภาพทุติยภูมิ ไม่จำเป็นต้องถ่ายแบบเพราะเป็นเพทนาการ หรือความคิดของจิตอยู่แล้วเขาจึงถือว่าคุณภาพปฐมภูมิของสสารเป็นวัตถุนิยม ส่วนคุณ ภาพทุติยภูมิเป็นจิตวิสัยคือต้องขึ้นอยู่กับการรับรู้ของจิตถ้าจิตไม่รับรู้จะมีอยู่ไม่ได้เลย เช่น สีไม่มีสำหรับคนตาบอดสี เสียงไม่มีสำหรับคนหูหนวก ดังนั้นความรู้คือการถ่ายแบบคุณภาพปฐมภูมิ ของสิ่งภาพนอกเข้าไปในจิต.
ความแตกต่างระสัจนิยมทั่วไปกับสัจนิยมทางวิทยาศาสตร์ดังต่อไปนี้
สัจนิยมทั่วไป สัจนิยมทางวิทยาศาสตร์
1. สสารมีอยู่อย่างอิสระจากความรู้
2. คุณภาพต่าง ๆ ของสสารมีอยู่ในสสาร
3. ความรู้ไม่มี อิทธิพลเหมือนสสาร
4. สสารคือสิ่งที่มีอยู่ตามที่มันปรากฏ
5. สสารเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไป
6. สสารเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไป 1. สสารมีอยู่อย่างอิสระจากความรู้ แต่การเก็งความจริงทางอภิปรัชญาขึ้นอยู่กับจิต
2. คุณภาพทุติยภูมิของสสารจิตเป็นตัวกำหนดให้มีโดยอาศัยสสาร
3. มีความคิดมี อิทธิพลเหนือสสาร
4. มีความแตกต่างระหว่างสสารที่มีอยู่จริงกับความคิดเกี่ยวกับสสารซึ่งเป็นเพียงจินตนาการถึงสสารที่แท้จริงเท่านั้น
5. ความรู้เรื่องสสารอยู่ในรูปแบบของความคิดซับซ้อน โดยผ่านสื่อกลางของความคิดทั่วไป
6. สำหรับความคิดทั่วไป สสารเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไป แต่ในกรณีของความคิดซับซ้อน สสารไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วปะเพราะว่า สสารเดียวกันทำให้บุคคลมองเห็นแตกต่างกันไป
2.5. สัจนิยมใหม่ (Neo-realism)
ลัทธินี้เชื่อว่าจิตรับรู้สิ่งภายนอกได้โดยตรง ไม่ใช่รับผ่านความคิด ความรู้จึ่งไม่ใช่การถ่ายแบบสิ่งภายนอกเข้าในจิต แต่เป็นอาการที่จิตรับรู้สิ่งภายนอกโดยตรง วัตถุภายนอกมีอยู่จริงด้วยตัวเองไม่ขึ้นอยู่กับจิต คุณภาพทุกอย่างของสสารจึงเป็นวัตถุวิสัย
อย่างไรก็ดี ทรรศนะของลัทธิสัจนิยมจึงไม่ใช่เป็นความคิดใหม่ในทางปรัชญา นักจิตนิยมได้กล่าวไว้ว่า “ ลัทธิสัจนิยมจัดเป็นความเชื่อในทางสัญชาติญาณของมนุษย์ซึ่ง เป็นลัทธิที่มีมาตั้งแต่คนเราเกิดมาในโลก” ลัทธิสัจนิยมสมัยใหม่ได้สร้างทรรศนะขึ้นมาจากรูปแบบต่าง ๆ ของลัทธิสัจนิยมสมัยโบราณ ปรัชญาของอาริสโตเติลได้ยึดหลักเกณฑ์สำคัญของลัทธิสัจนิยมนี้ และมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ ๑๓ โดย เซนต์ โทมัส อไควนัส ที่ได้นิพนธ์ไว้ใน “จุดเด่นเทววิทยา” อีกแง่หนึ่ง ปรัชญาของเซนต์ โทมัสอไควนัส ยังมีนักคิดทางโรมันคาทอลิกได้ปรับปรุงใหม่อีก ดังนั้น ลัทธิโทมัสนิยมใหม่จึงได้รุ่งโรจน์โชติช่วงเรื่อยมา โดยอาศัยลัทธินี้ ลัทธิสัจนิยมของอาริสโตเติลจึงได้กลั่นกรองเพื่อให้เป็นความคิดเพื่อให้เป็นความคิดใหม่ ยิ่งกว่านั้นลัทธิสำนักค้านท์ก็ยอมรับการตีความแก้ไขของลัทธิสัจนิยมนี้ด้วย และตามความรู้สึกทั่วไปปรัชญาของโทมัสเรด (Thomas Reid) ก็ยังให้การสนับสนุนลัทธิสัจนิยมนี้ด้วย.
2.6. ลัทธิสัจนิยมเชิงวิจารณ์ (Gritical Realism)
ซันตายานา (George Santayana: 1863-1952) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ถือว่าความรู้คือการที่จิตรับรู้สิ่งภายนอกโดยผ่านตัวกลาง ( Sensa ) ซึ่งเป็นสื่อระหว่างจิตกับวัตถุภายนอก สื่อมีลักษณะไม่ใช่จิตและไม่ใช่วัตถุ แต่สามารถใช้เหตุผลคิดได้ว่ามันมีอยู่จริง เขาถือว่าเรารับรู้วัตถุภายนอกโดยอ้อม ไม่ใช่โดยตรง วัตถุภายนอกจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในสภาพที่จิตจะรับรู้ได้เสียก่อนโดยอาศัยตัวกลางเป็นสื่อนำ กระบวนการรับรู้จึงมี (1)วัตถุภายนอก (2) ตัวกลาง (3) จิต.
2.7. สัจนิยมในพระพุทธศาสนา
เมื่อมาพิจารณาดูหลักฐานทางพระพุทธศาสนาแล้วพอสรุปได้ว่า สัจจะมี 4 ปะเภท ดังต่อไปนี้
2.7.1. สมมติสัจจะ (Conventional truth) ได้แก่ความจริงภายนอก ความจริงชั่วคราวที่โลกสมมติบัญญัติกันขึ้นมา ยอมรับกัน เช่น ชื่อ คน สัตว์ ตำแหน่งต่าง ๆ เป็นต้น
2.7.2. สภาวะสัจจะ (Empirical truth) ได้แก่ความจิรงชั้นในที่อยู่เบื้องหลังสมมติสัจจะ ซึ่งอาจได้จากการวิเคราะห์ก็ได้เช่น พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้ภิกษุศึกษาสภาวะสัจจะโดยการสอนให้พิจารณาแยกแยะร่างกายเป็นธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อาการ 32 เป็นต้น
2.7.3. ปรมัตถสัจจะ (Metaphysical truth) หมายถึงความจริงสิ่งที่อยู่นอกเหนือวิสัยของประสาทสัมผัส ความจริงที่ไม่สมารถพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือใด ๆ จึ่งต้องอาศัยการคิด อนุมาน หรือคิด อุปมาณ เช่น ความดี ความชั่ว นรก สวรรค์ ตายเกิด ตายสูญเป็นต้น
2.7.4. อริยสัจจะ (The Noble Truth) ความจริงอันประเสริฐเกี่ยวกับชีวิต 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นความจริงทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญเป็นพิเศษ .
สรุปสัจจะนิยม
สัจจะสำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่ามีอยู่ 3 อย่างคือ จริงโดยสมมติ, จริงตามธรรมชาติและจริงยิ่งกว่าจริง (อริยสัจ ๔), จริงโดยสมมติก็ เหมือนยานี้เป็นยาที่เรานำมาผสม จากต้นไม้ใบหญ้าต่าง ๆ แล้วนำมาบดมาตำ... นำมาปั้น... ให้เป็นขนานเดียวเพื่อรักษาโรค, จริงโดยธรรมชาติก็คือ ต้นไม้ ใบหญ้า ชนิดเดียวไม่ต้องผสม แต่ตัวของมันก็เป็นยาอยู่อย่างนั้น และจริงยิ่งกว่าจริงก็คือ คู่มือหมอ หรือตำราการแพศย์ คือเราสามารถใช้ความรู้จากตำรานั้นศึกษาได้ทุกแบบอยู่ที่เราจะต้องการยาขนานไหน เรารู้วิธีปรุงยาก็เพราะอาศัยตำรา, เรารู้ต้นไม้ก็เพราะอาศัยตำราพร้อมทั้งอาการณ์ของผู้ต้องการบริโภคยานั้นด้วย
แท้ที่จริงแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งเราพูดถึงสัจจะ ยิ่งเราอธิบายสัจจะมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้สัจจะพร่ามัวเท่านั้น เพราะทุกคนจะพูดถึงสัจจะแต่ในแง่ของตน แม้พระอรหันต์ซึ่งเราเชื่อว่า ท่านเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เข้าถึงความจริงได้แล้ว ท่านก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ในเรื่องเดียวกัน นับประสาอะไรกับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ยุ่งอยู่กับความวุ่น มากกว่าความว่างเล่า...
หนังสืออ้างอิง :
1. ผศ. สุเมธ เมธาวิทยากูล, ปรัชญาเบื้องต้น (Introduction to Philosophy); พิมพ์ครั้งที่ 1 , โอ. เอส.พริ้นติ้ง เฮ้า, 2534
2. พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, อธิบายคำ “ปรัชญา” และ “อภิปรัชญา” , ในสมุดที่ระลึกวันรคาชบัณฑิตยสถาน, ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๖
3. E.G. Spaulding in the New Rationalism (New york : Holty, 1918 ).
4. ดร. เดือน คำดี, ปัญหาปรัชญา; โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ , พ.ศ. ๑๕๓๔
5. อาจารย์ บัณฑิต รอดเทียน, Dhammaca, Vol. 4 May – Oct 2001
6. แสง จันทร์งาม, วิธีสอนของพระพุทธเจ้า, พิมพ์ครังแรก พ.ศ. 2526; กรุงเทพฯ : - - - กมลการพิมพ์ 2526
บทความดีครับ น่าจะมีเรื่องจิตนิยมครับ
ตอบลบเขียนดีมาก ขอนำไปศึกษาหน่อยนะ
ตอบลบเขียนดีครับ เป็นติ่ง ติดตาม
ตอบลบ