เราได้ทราบพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนามาแล้ว บัดนี้เรามาวิเคราะห์ว่าพระพุทธศาสนาเป็นพุทธปรัชญาอย่างไร
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่าปรัชญาคืออะไร เพื่อจะได้สงเคราะห์พุทธศาสนาลงเป็นพุทธปรัชญาให้ชัดเจนได้ยิ่งขึ้นดังนี้
กล่าวโดยสรุป “ปรัชญาคือการแสวงหาความจริงอันอันติมะเกี่ยวกับมนุษย์และโลกหรือสากลจักรวาล ภายนอกตัวมนุษย์ด้วยการใช้เหตุผล”
เมื่อเข้าใจว่า ปรัชญาคืออะไรแล้ว คราวนี้ก็มาถึงคำถามว่า “พุทธปรัชญาคืออะไร” คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ “พุทธปรัชญาได้แก่ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) และหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) บางประการของพระพุทธศาสนาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลตามวิธีการของปรัชญา “นิยามความหมายนี้ทำให้มองเห็นขอบเขตของพุทธปรัชญาว่าจำกัดอยู่ในส่วนที่เป็นศาสนธรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น จะไม่รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เว้นเสียแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ จะเกี่ยวโยงกับศาสนธรรม จึงจะศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลเชิงปรัชญาด้วยเท่านั้น
๑ ลักษณะของพุทธปรัชญา
หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงหลักธรรมให้เห็นถึงความเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล หลักจริยธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงวางหลักง่าย ๆ ของการดำเนินชีวิตเอาไว้ ซึ่งพอจะประมวลลักษณะเด่น ๆ ของพุทธปรัชญาได้ดังนี้
หลีกเลี่ยงที่จะโต้แย้งทางปรัชญา เช่นปัญหาทางอภิปรัชญาที่เรียกว่า อัพยากตปัญหา เป็นต้น
มีจุดเริ่มต้นแบบทุนิยม (ทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น) และจบลงที่สุนิยม
มีลักษณะเป็นสัจจนิยมฯ กรรม คือ การกระทำด้วยตนเอง
เป็นแบบปฏิบัตินิยม คืออรัยสัจ ๔
๒ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้า
มรรค ๘ หรือมัชฌิมาปฏิปทา
กฎสากลในธรรมชาติ
พุทธปรัชญาปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาอินเดียระบบเก่า คือ ประกาศิตของพระเจ้าในพระเวท แม้ในพุทธศาสนาก็ให้ใช้หลักกาลามสูตร,ปฏิเสธการสร้างโลกของพระพรหม สรรพสิ่งเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท,ไม่เห็นด้วยกับการอาบน้ำล้างบาปและยัญพลีกรรม,ไม่ยอมรับระบบวรรณะคนจะดีชั่วเพราะกรรม มิใช่ชาติตระกูล ไม่ยอมรับทางสุดโด่งทั้งสองส่วน ทรงแสดงทางสายกลาง
๓ ไตรลักษณ์
ทรงแสดงว่า สรรพสิ่ง ย่อมมีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามหลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และมิใช่ตัวตนเสมอกัน ไม่มียกเว้น
๔ อริยสัจ ๔
ทรงแสดงว่าปัญหาทุกข์ของชีวิตทุกอย่างเกิดจากสาเหตุคือความอยาก (ตัณหา) ด้วยประการต่าง ๆ แล้วทรงแสดงว่า ความดับสนิทแห่งความทุกข์ทั้งมวล (นิโรธ) ต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งมรรคมีองค์ ๘ ประการ
๕ ปฏิจจสมุปบาท หรือทฤษฎีสาเหตุสัมพันธ์
ว่า การเกิดกับดับของสิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามหลักปัจจยาการคือเหตุปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้นแบบลูกโซ่ ในลักษณะเป็นวงจรหาเบื้องต้นและเบื้องปลายหรือที่สุดไม่พบ ผลที่เกิดจากสาเหตุอันหนึ่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งอื่นอีกต่อไป เรื่อยไป ไม่มีสิ้นสุด
๖. กฎแห่งกรรม ทรงแสดงว่า
กรรมคือการกระทำของมนุษย์มีแรงผลักดันมาจากกิเลสเป็นเหตุแล้วให้เกิดผล (วิบาก) ของการกระทำนั้น แล้วผลก็จะกลายเป็นเหตุให้ทำกรรมต่อไปอีก จนกว่าจะตัดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งการทำกรรมได้ วงจรแห่งกฎแห่งกรรมก็จะสิ้นสุดลง เข้าสู่ความสิ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร คือ พระนิพพาน หรือ เข้าสู่อรหันตภูมิ การกระทำจึงจะเป็นแต่เพียงกิริยาไม่มีผล (วิบาก) ที่เป็นทุกข์อีกต่อไป
๗.อนัตตา
จากการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักแห่งปัจจยาการ จึงไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริงที่จะยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา เป็นตัวเขาของเขา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้ จึงไร้ตัวตน ไม่มีอาตมัน และวิญญาณอมตะดังนี้ลัทธิเทวนิยมทั่วไปเชื่อถือกันอยู่
แสดงความแตกต่างและความเหมือนระหว่างพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปรัชญา (Philosophy) ที่แปลว่าความรักในความรู้กับศาสนานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในลำดับแห่งวิวัฒนาการที่ผ่านมาบรรดาวิชาทั้งปวง ปรัชญาเป็นวิชาแรกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ต่อมาก็คือศาสนา หากกล่าวเฉพาะพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา ก็จะได้ลักษณะเฉพาะว่า พุทธปรัชญามีลักษณะเป็นคำถามส่วนพุทธศาสนามีลักษณะเป็นคำตอบ มีบ่อเกิดมาจากแหล่งเดียวกันคือจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า
พุทธปรัชญามีฐานะเป็นทฤษฎี พุทธศาสนาเป็นภาคปฏิบัติ
พุทธปรัชญาเป็นความคิด พุทธศาสนาเป็นการกระทำ
พุทธปรัชญาเกิดจากความสงสัย พุทธศาสนาเป็นการตอบสนองความสงสัยและเป็นคำตอบที่ตอบแล้ว
ปรัชญาทุกระบบ โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออกซึ่งรวมทั้งพุทธปรัชญาด้วย มุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต เช่นเดียวกับปรัชญาตะวันตก แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว โดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตกอาจดำเนินชีวิตไปในทางตรงกันข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนา คือแยกออกเป็นคนละส่วนกับศาสนา ส่วนปรัชญาตะวันออกไม่อาจแยกออกจากศาสนาได้เด็ดขาด ทั้งนี้เพราะนักปรัชญาตะวันออก เมื่อแสวงหาความจริงจนพบแล้ว ก็พยายามที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดขึ้นไว้ เพื่อเข้าถึงความจริงนั้น ๆ ฉะนั้น ปรัชญาตะวันออกเช่นพุทธปรัชญาที่กำลังกล่าวถึงนี้ จึงเป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวความคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น ได้นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน (way of life) ด้วย โดยลักษณะดังกล่าวนี้ พุทธปรัชญากับพุทธศาสนาจึงแยกออกจากกันได้ยาก ไม่เหมือนปรัชญาตะวันตกซึ่งเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ส่วนปรัชญาตะวันออกโดยทั่วไปได้กลายมาเป็นรากฐานของศาสนาดั่งเช่นพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา
แม้ว่าพุทธศาสนากับพุทธปรัชญาจะมีบ่อเกิดมาแหล่งเดียวกันคือ ประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ก็ตาม แต่มีลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างตามธรรมชาติของประสบการณ์ วิธีการ และจุดหมายของแต่ละวิชา ซึ่งอาจยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นประเด็นได้ดังนี้
๑.พุทธศาสนามุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบวิถีทางและอิทธิพลของตนที่มีต่อชีวิตและสังคมรวมทั้งการตีความหลักคำสอนต่าง ๆ พยายามตอบปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับชีวิต โดยการยึดหลักเอาศรัทธาเป็นหลักเป็นพื้นฐาน,ส่วนพุทธปรัชญามุ่งแสวงหาการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพยายามเข้าใจตนเองและโลกโดยอาศัยเหตุผลเป็นหลักการและจุดยืนในการมองปัญหาต่าง ๆ
๒.พุทธปรัชญามุ่งแสวงหากฎทั่วไป ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของมนุษย์โดยทั่วไป, ส่วนปรัชญาไม่ได้มุ่งแสวงหากฎทั่วไปเหมือนวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา เป็นการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานอ้นมีลักษณะเป็นนามธรรม สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและสถานที่
๓.พุทธศาสนาไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียวมาอธิบายประสบการณ์ของชีวิต แต่อาศัยความงาม อารมณ์ และความรู้ความศรัทธามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อที่จะเข้าใจในหลักธรรมของศาสนา ส่วนพุทธปรัชญามิได้แสวงหาความชื่นชมและความงามในตัวของมันเองในการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ อาจจะเกิดมีความชื่นชมและความงามควบคู่ไปด้วย
๔.พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะต้อง”พิสูจน์” ความจริง อันเป็นคำตอบปัญหาเรื่องชีวิต ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตนในแต่ละศาสนาบางอย่างอาจจะสอดคล้องลงรอยกันกับวิธีการ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทุกกรณี เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อต่อสิ่งนอกเหนือกฎเกณฑ์เหนือธรรมชาติ, แต่พุทธปรัชญาพยายามหลีกเลี่ยงการพิสูจน์ตามแบบวิทยาศาสตร์ คงมุ่งแต่ค้นคว้าหาคำตอบ คือปัญหาที่เกิดขึ้นอันอาจเป็นเพียงคำอธิบายเบื้องต้น ซึ่งอาจได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาอยู่แล้ว
๕.พุทธศาสนายึดมั่นในเรื่องคุณค่า และข้อเท็จจริง ถือว่ามีมาในศาสนาเพราะทำให้การปฏิบัติตามหลักมีความหมาย แต่พุทธปรัชญามีปัญหาเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงแสดงบทบาทแตกต่างกันกล่าวคือ พุทธอภิปรัชญาเกี่ยวข้องกับความจริงสูงสุด พุทธญาณวิทยาเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ส่วนพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า และแต่ละประเภทของปรัชญาจะเน้นบทบาทของคุณค่าไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตาม หากเราถือหลักการอันเป็นสากลโดยทั่วไปซึ่งเป็นธรรมชาติของระบบแนวคิดในโลกทางตะวันออกแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ศาสนากับปรัชญาไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ไม่อาจแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ ทั้งศาสนาและปรัชญาต่างมีข้อเหมือนกันคือ “เป็นผลผลิตของประสบการณ์ชีวิต”
ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา
๑. จุดมุ่งหมายของการศึกษา พระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ ผู้ศึกษาจะปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนโดยตรงเพื่อเขาถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ส่วนพุทธปรัชญาศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุและผลอันเป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการของตน คือจะศึกษาให้เกิดความรู้ว่าอะไร ทำไป อย่างไรเท่านั้น
๒. การนับถือพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนามักถือพระไตรปิฎกว่าเป็นคำประศาสน์ของผู้ตรัสรู้อย่างจริงจัง ไม่มีบกพร่อง และไม่กล้ามองในแง่ผิดหรือบกพร่อง ผู้ใดสงสัยคำประศาสน์ของพระศาสดาที่ตนนับถือและวิพากษ์วิจารณ์คำประศาสน์นั้น ผู้นั้นจะถูกประณามว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนพุทธปรัชญายอมรับว่าสิ่งใดจริงก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมีเหตุผลพอ หรือทนต่อการพิสูจน์ตามหลักเหตุผล หาได้นับถือพระพุทธเจ้าในฐานะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เพียงแง่เดียวไม่
๓. ในเรื่ององค์ประกอบ พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบทั้งหมด ๕ องค์ประกอบคือ ศาสดา, ศาสนธรรม, ศาสนทายาท, ศาสนสถาน, และศาสนพิธี
ส่วนพุทธปรัชญา ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าว แต่เน้นเรื่องของทฤษฎีล้วน ๆ โดยที่จริงศึกษาในแง่หลักการเพื่อให้เกดความรู้ว่า อะไร ทำไม อย่างไรเท่านั้น
๔. ในเรื่องการปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเมื่อศึกษาไม่อาจแยกจากการปฏิบัติได้ คือต้องลงมือปฏิบัติได้จริง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนพุทธปรัชญาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพุทธปรัชญาไม่ยอมรับความเชื่องมงาย แม้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามหลักเหตุผลก็จะไม่ยอมเชื่อ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย และทรงแสดงทางสายกลางเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้องตามลำดับคือ ศีล สมาธิ และปัญญา.
หนังสืออ้างอิง
๑. ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา โดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
๓. พุทธปรัชญาเถรวาท โดย วศิน อินทสระ
๔. พุทธปรัชญามหายาน โดย วศิน อินทสระ
๕. พุทธศาสนาวิทยา โดย แสง จันทร์งาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น