วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

พุทธปรัชญาสำนักโยคาจารหรือวิชญานวาท

ตามทรรศนะของนักปราชญ์บางท่านเห็นว่า ปรัชญาโยคาจารก้าวขึ้นสู่จุดเด่นหลังจากปรัชญามาธยมิกะ จึงน่าจะเรียงปรัชญาโยคาจารไว้ในลำดับถัดจากปรัชญามาธยมิกะ อันเป็นลัทธิที่แสดงถึงพัฒนาการทางความคิดที่ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่การรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสัจธรรมขั้นสูงสุดของพุทธศาสนา คือ ศูนยตา

ความหมายของชื่อปรัชญานี้
ที่ปรัชญานี้มีชื่อว่า โยคาจาร ก็เพราะมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุดโดยวิธีปฏิบัติโยคะ และวิธีปฏิบัตินี้ก็ดำเนินตามรอยบาทพระพุทธองค์ ซึ่งทรงเน้นข้อปฏิบัติทางกายและทางใจเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรมดังกล่าว ข้อปฏิบัติทางจิตก็คือการฝึกจิตเพื่อให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุด แล้วจะพบว่า (1) สากลจักรวาลหาใช่อื่นที่แยกออกไปจากจิตไม่ (2) ในสัจธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นการเกิดและการตาย และ (3) ไม่มีสิ่งหรือวัตถุภายนอกจิตที่มีอยู่จริง ๆ
ท่าทีดังกล่าวนี้ย่อมแสดงถึงเหตุผลอย่างเพียงพอว่า ทำไมจึงใช้ชื่อว่า โยคาจาร และเพราะเหตุที่ปรัชญานี้ถือว่าไม่มีความจริงแท้ใด ๆ อื่นนอกจากจิตหรือวิชญาน (เรียกตามภาษาบาลีว่า วิญญาณ) ฉะนั้น จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิชญานวาท (เรียกตามภาษาลาลีว่า วิญญาณวาท)

จุดยืนของสำนักปรัชญานี้
สำนักปรัชญานี้ปฏิเสธลักษณภาพทางวัตถุวิสัยของโลกภายนอก ยอมรับว่ามีวิญญาณจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ละดวงเป็นขณิกะ มีปัจจัยปรุงแต่ง (เจตสิก) ของตนเอง และแสวงหาความรู้เพื่ออธิบาย ถึงปรากฏการณ์ที่ประสบ โยคาจารถือว่าเพราะอวิทยาเป็นเหตุ เราจึงจำแนกวิญญาณหนึ่ง ๆ ออกเป็นตัวผู้ทำ กรรมและความรู้สึกรู้ ซึ่งความจริงแล้ว วิญญาณเดิมนั้นมีลักษณะเป็นประภัสสรและจำแนกไม่ได้

ผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานี้
สำนักปรัชญานี้พัฒนาเด่นขึ้นมาก็เพราะ ท่านอสังคะ ผู้เป็นพี่ชายของท่านวสุพันธุ์ จึงเชื่อกันว่าท่านอสังคะเป็นผู้ตั้งเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 แต่นักปราชญ์บางท่านเชื่อว่า ท่านไมตรียนาถ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอสังคะเป็นผู้ตั้ง ตามหลักฐานทางทิเบตกล่าวไว้ว่า ท่านไมตรียนาถได้รจนาคัมภีร์ไว้ถึง 6 คัมภีร์ แต่ปรากฏชื่อยู่ 5 คัมภีร์เท่านั้น คือ (1) สูตราลังการ (2) มัธยานตวิภังค์ (3) ธรรมธรรมตาวิภังค์ (4) มหายาน อุตตร-ตันตร-ศาสตร์ แต่มีผู้คัดค้านว่า ท่านไมตรียนาถไม่ใช่เป็นผู้ตั้ง เพราะเราพบว่าวิชญานวาทนั้น ได้มีอยู่ก่อนแล้ว ในคัมภีร์ลังกาวตารสูตรและคัมภีร์ของท่านอัศวโฆษ กล่าวว่า ท่านไมตรียนาถเป็นเพียงผู้อธิบายตามหลักปรัชญาเท่านั้น แต่ความคิดเห็นของท่านสืบทอดไปสู่ท่านอสังคะผู้เป็นศิษย์

วรรณกรรมและผู้รจนา
คัมภีร์ที่เชื่อกันว่า ท่านอสังคะเป็นผู้รจนา คือ (1) โยคาจารภูมิศาสตร์ (2) มหายานสูตราลังการ พร้อมคำวิจารณ์ของผู้รจนาด้วย (3) ปัญจภูมิ (4) อภิธรรมสมุจจัย (5) มหายานสงเคราะห์ (มหายานสงครห) (6) มหายานสมปริเคราะห์ (มหายานสมปริครห) ท่านปรมารถแปลสู่พากย์จีนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 (7) ประกรณอารยวาจา (8) มหายานาภิธรรมสังคีติศาสตร์ หลวงจีนเฮี้ยนจังแปลสู่พากย์จีนเมื่อราว พ.ศ. 1168 (9) คัมภีร์อรรถกถา 1 คัมภีร์ขยายความในวัชรเฉทิกา ท่านธรรมคุปตะแปลสู่พากย์จีนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-12
บางท่านเชื่อว่า ท่านอสังคะได้พยายามชักจูงพระน้องชายชื่อวสุพันธุ์ให้หันมานับถือมหายานได้สำเร็จในตอนปลายแห่งอายุ และท่านวสุพันธุ์ได้รจนาคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง ชื่อว่า วิชญปุติมาตรตาสิทธิ ว่าด้วยวิชญานวาท แต่บางท่านเห็นว่า ท่านวสุพันธ์ องค์นี้สังกัดมหายานมาตลอด เป็นคนละรูปกับท่านวสุพันธุ์ผู้แต่งคัมภีร์อภิธรรมโกศะของไวภาษิกะดังกล่าวมาแล้ว
คัมภีร์ที่สำคัญของสำนักนี้ คือคัมภีร์ลังกาวตารสูตรกับคัมภีร์อรรถกาถาขยายความในคัมภีร์ตริงศิกาของท่าน สถิรมติ (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) ผู้เป็นศิษย์ของท่านวสุพันธุ์ แต่บางท่านเชื่อว่าท่านสถิรมติสังกัดสำนักไวภาษิกะ
นอกจากนี้ยังมีนักตรรกศาสตร์เรืองนาม 2 ท่าน คือ ท่านทิงนาคะ กับท่านธรรมกีรติ บางทีก็ถือว่าสังกัดสำนักนี้เหมือนกัน แต่หลักฐานบางแห่งว่า ท่านทั้งสองสังกัดสำนักไวภาษิกะ

ลักษณะสำคัญของโยคาจาร
ในหนังสือมหายานสมปริเคราะห์-ศาสตร์ ท่านอสังคะกล่าวถึงลักษณะสำคัญของสำนักปรัชญาโยคาจารไว้ดังนี้
1. อาลยวิญญาณแพร่อยู่ทั่วไปในสรรพสิ่งทั้งหลาย
2. ความรู้ (ญาณ มี 3 ชนิด คือ (1) ชนิดที่เป็นมายา (ปริกัลปิตชญาน) ได้แก่ ความเท็จโดยสิ้นเชิง (2) ชนิดสัมพันธ์ (ปรตันตรชญาน) ได้แก่ความรู้ที่ไม่จริงแท้ แต่ไม่ใช่เป็นเพียงมายา นั่นคือ ความรู้สามัญที่สมมติและยอมรับกันในชีวิตประจำวัน ถูกต้องเฉพาะราย ไม่เสมอไป และ (3) ความรู้จริงแท้ (ปริณิษปันนชญาน)
3. โลกทางวัตถุวิสันกับอัตตาทางจิตวิสัย เป็นเพียงภาคสำแดงของอาลยวิญญาณซึ่งเป็นวิญญาณสากล
4. โยคาจารเน้นเรื่องบารมี 6 ประการ
5. ผู้ปรารถนาจะบรรลุพุทธภูมิจะต้องปฏิบัติตามหลักทศภูมิของพระโพธิสัตว์
6. มหายานสูงส่งกว่าหินยานซึ่งเป็นเพียงสาวกยานที่มุ่งผลสำเร็จเพื่อตน ไม่มุ่งประโยชน์ผู้อื่น และเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าผิด ๆ
7. เป้าหมายของโยคาจาร คือบรรลุถึงสภาพธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายหรือพระกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยโพธิญาณ
8. ผู้ที่ปฏิบัติจนถึงขั้นสูงสุดแล้วจะอยู่เหนือกายและจิต และเข้าถึงเอกภาพกับอาลยวิญญาณ
9. จากแง่ปรมัตถ์ จะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสงสารกับนิพพาน นิพพานนั้นจะบรรลุได้ในโลกนี้และชั่วชีวิตนี้ โดยทำให้เกิดความเหมือน (สมตว) และขจัดความต่าง (นานาตว) ออกไป
10. ความจริงแท้ คือธรรมกาย อันได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงอาลยวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่ปรากฏเป็นกายที่เราเห็นคือนิรมานกายของพระพุทธองค์ (แปลว่ากายที่เปลี่ยนแปลงได้) แต่ถ้ามองจากแง่ปรมัตถ์ ได้แก่สัมโภคกาย คือ กายแห่งความสุข
จากพระสูตรนี้ มองเห็นได้ชัดว่า โยคาจารมีหลักปรัชญาครบทั้ง 3 สาขา คือ ญาณวิทยา อภิปรัชญา และจริยศาสตร์ ดังจะได้นำมาอธิบายขยายความโดยสังเขปต่อไป

ญาณวิทยา
ลักษณะของความรู้แท้
ความรู้แท้หรือความรู้ชอบ (สมยคชญาน) คือความรู้ขั้นสัพพัญญู ซึ่งถือว่าอยู่เหนือความรู้ขึ้นเหตุผลของตรรกศาสตร์ทั้งหลาย เพราะความรู้ขึ้นสัพพัญญูเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความจริงแท้หรือสัจธรรมขั้นสูงสุดของมหายานได้ ความรู้ขั้นเหตุผลไม่สามารถเข้าถึง ดังที่ท่านอสังคะกล่าวไว้ในมหายานสูตราลังการศาสตร์ว่า
ความรู้ (ปัญญา) ขึ้นเหตุผลหรือหนักทางตรรกศาสตร์นั้น มีสมุฎฐานมาจากตำราทางศาสนา เป็นเพียงสมมติบัญญัตินั่นเอง ไม่ใช่ความรู้ขั้นสูงหรือขั้นสุดท้ายไม่สามารถเข้าถึงมหายานได้เลย เพราะตามหลังเหตุผล สิ่งที่ถือว่าเป็นจริงในวันนี้ อาจไม่จริงในวันพรุ่งนี้ก็ได้ สิ่งที่บางคนถือว่าจริว บางคนอาจเห็นว่าไม่จริงก็ได้ จึงชื่อว่าเป็นความรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ใช่สกลที่เรียกว่าสัพพัญญูเพราะไม่สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ สิ่งที่ความรู้ขั้นเหตุผลเข้าถึงได้ ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์เท่านั้น ความรู้ขั้นเหตุผลไม่อาจสร้างความพึงพอใจให้ทุกคนได้ จึงปรากฏเนือง ๆ ว่า ได้มีการโต้คารมกันอย่างเผ็ดร้อนและเอาชัยชนะกันด้วยน้ำหนักแห่งเหตุผลของกันและกัน ซึ่งนับว่า ความรู้ขั้นนี้นำไปสู่การขัดแย้งกันทะเลาะกัน และก่อให้เกิดทุกข์และเพิ่มทุกข์ บุคคลผู้ไม่ฉลาดเท่านั้นจะเชื่อถือความรู้ขั้นนี้ ผู้ฉลาดจะไม่เชื่อถือเลย เพราะถือว่าไม่ได้ให้ความจริงแก่เรา

ชนิดของความรู้
ท่านอสังคะแบ่งความรู้ออกเป็น 3 ชนิด (ดังปรากฏในมหายานสมปริเคราะห์ศาสตร์ข้างต้น) คือ
1. ปริกัลปิตชญาน ได้แก่ความรู้ชนิดมายา คือไม่ให้ความจริงอะไรเลยเป็นความเท็จล้วน ๆ เช่น ความรู้เรื่องหนวดเต่า เขากระต่าย
2. ปรตันตรชญาน ได้แก่ความรู้ชนิดสัมพันธ์ คือความรู้ขั้นสามัญที่สมมติกันและยอมรับกันว่า ให้ความจริงได้บ้าง แต่เป็นความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่สมมุติบัญญัติขึ้น เพื่อใช้เรียกขานกันในชีวิตประจำวันเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงขั้นปรมัตถ์ ความรู้นี้จึงใช้บรรยายให้ความจริงของสรรพสิ่งที่เป็นสมมติหรือโลกียได้ ไม่ใช่เป็นมายาโยสิ้นเชิงอย่างปริกัลปิตชญาน
3. ปริณิษปันนชญาน ได้แก่ความรู้แท้ที่ให้ความจริงแท้ หรือสัจธรรมขั้นปรมัตถ์ ความรู้ชนิดนี้แหละที่ท่านอสังคะถือว่า สามารถเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงสุดของมหายานได้

โยคาจารแบ่งความรู้ปริณิษปันนุชญานออกเป็น 4 อย่าง คือ
1. กฤตยานุษฐานชญาน คือความรู้ของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนปัญจวิญญาณที่ประกอบด้วยสาสวธรรม (กิเลส) ทั้งหลายให้กลายเป็นอนาสวธรรม
2. ปรัตยเวกษณชญาน คือความรู้ของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนมโนวิญญาณที่ประกอบด้วยสาสวธรรมให้กลายเป็นอนาสวธรรม
3. สมตาชญาน คือความรู้ของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนกลิษฎมโนวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรมให้กลายเป็นอนาสวธรรม
4. อาทรรศนชญาน คือความรู้ของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนอาลยวิญญาที่ประกอบด้วยสาสวธรรให้กลายเป็นอนาสวธรรม
ความรู้หรือญาณทั้ง 4 อย่างนี้เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็สามารถถึงวิมุติหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เด็ดขาด

ประมาณหรือแหล่งเกิดความรู้
ปรัชญาโยคาจารยอมรับประมาณ 2 อย่างว่า สามารถให้ความจริงได้ คือ ประจักษประมาณ และอนุมานประมาณ อย่างเดียวกับสำนักปรัชญาไวภาษิกะ (ดูรายละเอียดในสำนักปรัชญานั้น)

อภิปรัชญา
นักปราชญ์อินเดียท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า สำนักปรัชญาอินเดียที่จัดได้ว่าเป็น จิตนิยม (Idealistic School) อย่างแท้จริงนั้น มีสำนักเดียวเท่านั้น คือสำนักปรัชญาโยคาจารหรือวิชญานวาทนี่นั่นเอง เพราะสำนักปรัชญานี้มีทรรศนะว่าความจริงแท้มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ อาลยวิญญาณ วัตถุทั้งหลายในโลกเป็นเพียงรูปแบบและภาพปรากฏของวิญญาณหรือจิตทั้งสิ้น เช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ลังกาวตารสูตรตอนหนึ่งว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือจิตนั่นเอง” คำว่า “จิต” ในที่นี้ ท่านหมายถึงอาลยวิญญาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิญญาณ 8 ตามการจำแนกของสำนักปรัชญานี้

ทรรศนะเรื่องวิญญาณ
ประเภทของวิญญาณ
พุทธปรัชญาสำนักโยคาจารได้จำแนกวิญญาณออกเป็น 8 ชนิด คือ
1. จักขุวิญญาณ 2. โสตวิญญาณ 3. ฆานวิญญาณ 4. ชิวหาวิญญาณ
5. กายวิญญาณ 6. มโนวิญญาณ 7. กลิษฎมโนวิญญาณ (มนัส) และ
8. อาลยวิญญาณ
วิญญาณ 5 ข้างต้น เรียกว่า ปัญจวิญญาณ ซึ่งไม่แตกต่างกับของเถรวาท คือเมื่อจักขุเห็นรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ หูได้ยินเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ ฯลฯ ดังนี้ ตามทรรศนะของโยคาจารถือว่า ปัญจวิญญาณหาได้เกิดขึ้นโดยลำพังอินทรีย์กับวิสัยหรืออารมณ์มากระทบกันอย่างเดียวไม่ แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบ เช่น
จักขุวิญญาณจะเกิดต้องอาศัยปัจจัย 9 อย่าง มีที่ว่าง แสงสว่าง อินทรีย์คือจักขุประสาท รูปวิสัย มนสิการ จิต มโนธาตุ มโนวิญญาณ และพีชะ (เรื่องพีชะดูตอนต่อไป) ส่วนผู้ที่ได้ทิพยจักษุไม่ต้องอาศัยที่ว่างกับแสงสว่าง 2 อย่างนอกนั้นคงต้องอาศัย
โสตวิญญาณต้องอาศัยปัจจัย 8 อย่างคือโสตประสาท ศัพทวิสัย มนสิการ จิต มโนธาตุ มโนวิญญาณ พีชะ และที่ว่าง
ฆานวิญญาณต้องอาศัยปัจจัย 7 อย่าง คือ ฆานประสาท ฆานวิสัยมนสิการ จิต มโนธาตุ มโนวิญญาณ และ พีชะ
ชิวหาวิญญาณต้องอาศัยปัจจัย 7 อย่าง คือชิวหาประสาท ชิวหาวิสัยนอกนั้นเหมือนฆานวิญญาณ
กายวิญญาณต้องอาศัยปัจจัย 7 อย่าง คือกายประสาท การวิสัย นอกนั้นเหมือนฆานวิญญาณ
วิญญาณทั้ง 5 อย่างรับอารมณ์ใกล้ไกลไม่เหมือนกัน คือ จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณรับอารมณ์ที่ห่างไกลออกไปได้ ท่านเรียกว่า อสัมปัตตวิญญาณส่วนฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ต้องรับอารมณ์ที่มาถึงตนท่านจึงเรียก สัมปัตตวิญญาณ
มโนวิญญาณ ความรู้ทางใจมี 2 ประการ คือ มโนวิญญาณที่เป็นไปในปัญจทวารขณะรับรู้อารมณ์ 5 และมโนวิญญาณที่รับรู้อารมณ์ในขณะที่ปัญจทวารมิได้รับอารมณ์ มโนวิญญาณนี้พิจารณารู้อารมณ์ทั้งในอดีตปัจจุบัน และอนาคต ต่างกับปัญจวิญญาณซึ่งรับอารมณ์ได้แต่ปัจจุบัน
มโนวิญญาณมีหน้าที่สำคัญคือเป็นต้นเหตุแห่งการประกอบกรรมดีกรรมชั่ว มโนวิญญาณเป็นไปทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤตเช่นเดียวกับปัญจวิญญาณ มโนวิญญาณจะขาดตอนก็ต่อเมื่อเข้าสู่อสัญญีภพ เข้าอสัญญีสมาบัติเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ คนที่หลับสนิทไม่มีฝัน และคนทีสลบ
ปัญจวิญญาต้องอาศัยอินทรีย์ 5 เป็นที่เกิด เช่น จักขุวิญญาณก็ต้องอาศัยจักขุนทรีย์เป็นที่เกิดฉันใด มโนวิญญาณจะบังเกิดพฤติภาพได้ ก็ต้องมีที่อาศัยเช่นเดียวกัน กล่าวคืออาศัย มนินทรีย์ ผิดกันแต่อินทรีย์ของปัญจวิญญาณเป็นรูปธรรม ส่วนอินทรีย์ของมโนวิญญาณเป็นนามธรรม ปรัชญาโยคาจารได้ให้อรรถาธิบายไว้ว่า มนินทรีย์นี้ต่างกับมโนวิญญาณ กล่าวคือ มนินทรีย์ก็คือมโนธาตุ จัดเป็นวิญญาณที่ 7 มีสภาพเป็นอัพยากฤต ทำหน้าที่ยึดถืออาลยวิญญาณว่าเป็นตัวตน เป็นตัวอุปาทานที่เข้าไปยึดครองอาลยวิญญาณ อาลยวิญญาณเป็นสภาพที่มนินทรีย์หรือมโนเข้ายึดไว้ มนิทรีย์ไม่มีหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ภายนอก รับรู้คิดยึดแต่อารมณ์ภายในคืออาลยวิญญาณ แต่เนื่องด้วยเป็นตัวทำการยึดถืออาลยวิญญา จึงมีอิทธิพลมาก สามารถทำให้มโนวิญญาณมีความรู้สึกไปในทางกุศล และอกุศลได้ เพราะฉะนั้น แม้มนิทรีย์จะมีลักษณะเป็นอัพยากฤตก็นับเป็นอาสวะ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลิษฎมโนวิญญาณ
วิญญาณที่ 7 คือ กลิษฎมโนวิญญาณนี้ทำหน้าที่คิดพิจารณาอาลยวิญญาณว่า เป็นตัวตนเสมอสืบสันคติเนื่องกันไปไม่ขาดสายจนกว่าจะสิ้นภพชาติพ้นกิเลส มโนวิญญาณขาดตอนได้ด้วยเหตุ 5 ประการดังกล่าวข้างต้น แต่กลิษฎมโนวิญญาณนี้จะขาดก็ต่อเมื่อบรรลุอรหัตผลหรือเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเท่านั้น
วิญญาณที่ 8 คืออาลยวิญญาณ ที่เรียกชื่อเช่นนั้น เพราะท่านว่าวิญญาณนี้เป็นสภาพที่กลิษฎมโนวิญญาณเข้าไปยึดครองแล้วเกิดอุปทานว่าเป็นตัวตนของตัว จึงมีความอาลัย เลิกถอนไปได้ยาก อาลยวิญญาณตรงกับภวังคจิตของเถรวาทนั้นเอง แต่ปรัชญาโยคาจารถือว่า วิญญาณนี้มีความสำคัญมาก คือ ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นอาลยวิญญาณและออกมาจากอาลยวิญญาณนี้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาโยคาจาร จึงมีชี่อว่าวิชญานวาทหรือจิตนิยม

อาลยวิญญาณเป็นมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวง
ปรัชญาโยคาจารถือว่า อาลยวิญญาณเป็นมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวง ถ้าไร้อาลยวิญญาณนี้แล้ว สิ่งทั้งปวงก็ไม่มี เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเงาสะท้อนออกมาหรือเป็นพฤติภาพของอาลยวิญญาณ นั่นเอง นักปรัชญาโยคาจารยุคแรกมีท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ์ เป็นต้น ถือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงความคิดของเรา สิ่งทั้งปวงอยู่ในจิตของเรา ครั้นมาถึงยุคหลังสมัยท่านธรรมปาละ ท่านเทิงนาคะได้สอนต่างออกไปหน่อย คือสอนว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกจิตก็มีเหมือนกัน แต่ทุกสิ่งมีมูลกำเนิดมาจากจิตหรืออาลยวิญญาณ
ที่ว่าทุกสิ่งมีมูลกำเนิดมาจากอาลยวิญญาณนั้น โยคาจารอธิบายว่าอาลยวิญญาณมีภาวะเป็นอัพยากฤต เกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติมาตั้งแต่กาลอันไม่ปรากฏ ภายในอาลยวิญญาณ ได้เก็บเอาพีชะหรือพืชแห่งรูปธรรม นามธรรมกุศล อกุศล สาสวะ และอนาสวะไว้ เมื่อประจวบกับปัจจัยอันสมควรให้ผลก็สำแดงพฤติภาพออกมา ปฏิจสมุปบาทของนิกายนี้ถือเอาพืชต่างชนิดเป็นเหตุส่วนวิสัยภายนอกเทียบด้วยปัจจัยมาเร่งเร้าให้เหตุนั้นสำแดงพฤติภาพออกมาแม้วิสัยภายนอกที่เป็นปัจจัยมาเร้าให้เหตุนั้นสำแดงพฤติภาพออกมาแม้วิสัยภายนอกที่เป็นปัจจัยมาเร้าก็คงเป็นของเกิดด้วยพืชในอาลยวิญญาณนั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่างอาศัยซึ่งกันและกันดังนี้ วิญญาณ 7 ข้างต้นก็เป็นเพียงการิยะหรือผลของอาลยวิญญาณเท่านั้นเหมือนกัน
หน้าที่ของอาลยวิญญาณ ท่านนิยามความไว้สั้น ๆ ว่า “เก็บก่อ” เก็บคือเก็บเอาพืชของสิ่งทั้งปวงไว้ เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ผลไม้ย่อมเก็บเอาลำต้นกิ่งก้านสาขาตลอดจนผลไว้หมด รอการนำลงปลูกรดน้ำพรวนดินตลอดจนรอรับแสดงอาทิตย์เป็นปัจจัยเร่งเร้า ก็จักโตวันโตคืน แตกดอกออกผลโดยลำดับ ก่อคือก่อสร้างพฤติภาพต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้นเป็นขึ้น เช่น โตเป็นลำต้น มีใบมีดอก

พีชะในอาลยวิญญาณ
ตามหลักปฏิจสมุปบาทถือว่า สิ่งที่เป็นเหตุย่อมมีผล หรือผลย่อมมาจากเหตุ นี้เป็นหลักธรรมของพุทธศาสนาโดยทั่วไป ปรัชญาโยคาจารสอนว่าผลทั้งหลายที่ปรากฏแก่เรา รวมทั้งตัวของเราด้วย หรือพูดให้กว้างขึ้นก็คือ สังสารวัฏนี้ย่อมมาจากเหตุของมัน เหตุที่ว่านี้แหละท่านเรียกว่า “พีชะ” (พีช) ซึ่งมีอยู่ในอาลยวิญญาณ และเนื่องจากสิ่งทั้งหลายในโลกมีผิดแผกแตกต่างออกไปตามสภาพ เช่นมีกุศลธรรม อกุศลธรรม สาสวธรรม นามธรรม รูปธรรม พีชะก็มีมากมายหลายประเภทนับประมาณไม่ได้ตามไปด้วย ท่านว่าเปรียบด้วยเม็ดฝนทีเดียว สิ่งสิ่งหนึ่งก็มีพีชะของตนหาเหมือนกันไม่ แต่สรุปแล้วคงแบ่งได้ 3 ชนิด คือกุศลพีชะ อกุศลพีชะ และอัพยากฤตพีช หรือเป็น 2 คือ สาสวพีชะกับอนาสวพีชะ พีชะเทียบได้กับพลังงานที่สามารถก่อให้เกิดผล ไม่ใช่มีรูปลักษณะเหมือนเช่นกับเมล็ดพืชของพันธุ์ไม้ พลังงานเหล่านี้เก็บอยู่ในอาลยวิญญาณ เช่นรูปวิสัยก็ต้องมีพีชะของรูปนั้นสำแดงพฤติภาพออกมาภายนอก แล้วกลับมาเป็นอารมณืแกจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณจะเกิดเป็นจักขุวิญญาณขึ้นได้ก็ต้องอาศัยพีชะของตน สำแดงพฤติภาพออกมา พร้อมด้วยปัจจัยมีแสงสว่างที่ว่าง ฯลฯ มาเร่งเร้าช่วยเหลือ จึงเกิดจักขุวิญญาณขึ้นมา พีชะที่ให้เกิดรูปวิสัยภายนอกกับพืชที่ให้เกิดจักขุวิญญาณหาใช่พีชะอันเดียวกันไม่ ทั้งนี้ เพราะอย่างแรกเป็นรูปพีชะ อย่างหลังเป็นนามพีชะ แต่ทั้งสองก็คงมีในอาลยวิญญาณนั่นเอง ฉะนั้น ปรัชญาโยคางจารจึงถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีจิตเป็นปทัฎฐาน
พีชะของโสตะเป็นต้น ก็อาศัยหลักการเช่นนี้ กล่าวคือ พีชะของโสตก็ทำให้โสตะเป็นใหญ่ในการฟัง พีชะของฆานะก็ทำให้ฆานะเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น พีชะของชิวหาก็ทำให้ชิวหาเป็นใหญ่ในกาลิ้นรส อนึ่งพีชะของอาลยวิญญาณเล่าก็มีอยู่ในตัวอาลยวิญญาณนั่นเอง เรียกว่า อาลยพีช ซึ่งเป็นตัวเหตุส่วนอาลยวิญญาณเป็นตัวผล ทั้งอาลยวิญญาณและอาลยพีชะมีขึ้นเป็นขึ้นพร้อมเพรียงกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ไม่มีพีชะของสิ่งใดที่จักอยู่โดดเดี่ยวนอกออกไปจากอาลยวิญญาณ ปรัชญาโยคาจารไม่ได้ปฏิเสธโลกแห่งวัตถุธาตุว่าไม่ได้มีอยู่ แต่กล่าวว่าโลกแห่งวัตถุนั้นเกิดมาจากพีชะหรือพลังงานที่อยู่ในจิตเท่านั้นเอง วัตถุก็คือการรวมตัวเข้าของพลังงาน พลังงานที่ว่านี้ท่านแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ
1. พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วทำให้แข็งกระด้าง เรียกว่า ปฐวีพีชะ
2. พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะเอิบอาบ เรียกว่า อาโปพีชะ
3. พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะอบอุ่น เรียกว่า เตโชพีชะ
4. พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะหวั่นไหว เรียกว่า วาโยพีชะ

ลักษณะของพีช
โยคาจารถือว่า พีชะก็เป็นขณิกะ คือเกิดดับเป็นขณะ ขณะต้นเป็นอนันตรปัจจัยแก่ขณะหลัง สืบสันตติกันเรื่อยไป ถ้าหากพีชะไม่เกิดดับมีสภาพเป็นอมตะ พีชะก็ไม่สามารถจะเจริญเติบโตเป็นกิ่งใบดอกเถาได้ ฉะนั้น พีชะต้องมีสภาพเกิดขึ้นดับไปเป็นขณะ ๆ ข้อนี้เราจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า มูลเหตุของโลกตามทรรศนะของปรัชญาโยคาจารแตกต่างกับปรัชญาไวภาษิกะอย่างไรบ้างอนึ่ง พีชะนั้นจะต้องไม่สูญหาย เมื่อผลปรากฏขึ้นแล้วก็คงมีอยู่พร้อมกับผลของตนต่อไป เช่น เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่เจริญงอกงามออกเป็นต้นแล้ว แม้เมล็ดพันธุ์นั้นเราแลไม่เห็น แต่พลังงานของเมล็ดนั้นยังคงอยู่กับกิ่งใบดอกเป็นต้นนั่นเองกล่างสั่น ๆ ก็คือ เมล็ดพันธุ์นั้นค่อย ๆ เจริญแปรเป็นต้นไม้ขึ้นมา พีชะแต่ละอย่างมีคุณภาพที่แน่นอน เช่น กุศลพีชะจะต้องมีคุณภาพผลิตผลเป็นกุศล จะยักย้ายให้มีผลเป็นอกุศลไม่ได้ เช่นเดียวกับการปลูกมะม่วงก็ต้องงอกเป็นต้นมะม่วง จะงอกเป็นต้นแตงโมไม่ได้ การเกิดปรากฏการณ์ของพีชะก็ต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ มาช่วยเร่งเร้า และปัจจัยเหล่านั้นก็ออกมาจากพีชะของตน ๆ อีกชั้นหนึ่ง ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน

พีชะมีมาอย่างไร
มีปัญหาว่า พีชะ ทั้งหลายมีมาอย่างไร คณาจารย์สำนักปรัชญาโยคาจารได้มีมติในเรื่องนี้แตกออกเป็น 3 พวก คือ
1. อาจารย์จักนทรปาละมีมติว่า พีชะทั้งหลายจะต้องมีมาแต่เดิมอย่างพร้อมมูลในอาลยวิญญาณ นับตั้งแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏ ไม่ใช่เกิดขึ้นใหม่ในตอนหลัง
2. อาจารย์นันทะมีมติว่า พีชะทั้งหลายจะมีพร้อมกับอาลยวิญญาณตั้งแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏหามิได้ แต่เกิดมีขั้นจากการอบรม เช่น การที่บุคคลหนึ่งได้มีโอกาสสดับธรรมแล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติจนได้บรรลุอริยภูมิ ในกรณีเช่นนี้ ต้องนับว่าอริยพีชะของเขาเกิดมาจากการอบรมภาวนาต่างหา ถ้ามีอริยพีชะอยู่แล้วในอาลยวิญญาณ บุคคลนี้นมิพักต้องสดับธรรมหรืออาศัยการอบรม อริยพีชะก็เจริญงอกงามโดยลำดับได้เอง
3. อาจารย์ธรรมปาละมีมติเป็นกลางว่า พีชะทั้งหลายที่มีอยู่เองแล้วนับแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏ และที่อบรมให้เกิดขึ้นใหม่ พีชะที่มีอยู่เดิมนั้นถ้าไม่ได้รับการอบรมก็จักไม่ปรากฏ ลำพังการอบรม หากไม่มีพีชะเดิมอยู่ก่อนก็จะไม่บรรลุผล ฉะนั้น จะแยกออกจากกันมิได้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกันพีชะจึงมีทั้งที่มีอยู่เดิมและที่อบรมขึ้นมาใหม่
ปรากฏว่ามติของท่านธรรมปาละได้รับยกย่องกันว่าถูกต้องที่สุด การอบรมหมายถึงอาลยวิญญาณได้รับการอบรมพฤติกรรม แล้ววิญญาณ 7 ซึ่งมีอารมณ์เป็นกุศล อกุศล หรืออัพยากฤต ก็ส่งผลเป็นพีชะเข้าไปเก็บไว้ในอาลยวิญญาณ เป็นพีชะฝ่ายนามธาตุบ้าง ฝ่ายรูปธาตุบ้าง ฝ่ายนามธาตุ เรียกว่า ทรรศนภาค ฝ่ายรูปธาตุ เรียกว่า ลักษณภาค ทรรศนภาคพีชสามารถสำแดง
พฤติภาพในการเสวยอารมณ์ ลักษณภาคพีชะสำแดงพฤติภาพออกมาเป็นวิสัยหรืออารมณ์ให้แก่ทรรศนภาคพีช การประกอบกรรมของเราทุกอย่างไม่สูญหาย ย่อมส่งผลสะท้อนเข้าไปเก็บไว้เป็นพีชในอาลยวิญญาณเสมอ ๆ จนกว่าเราจะหลุดพ้นสิ้นเชิง
ขอกล่าวเป็นอุปมาโวหารเพื่อสรุปในเรื่องนี้ว่า พีชเปรียบด้วยเมล็ดพันธุ์ อาลยวิญญาณเปรียบด้วยรากเหง้า กลิษฎมโนวิญญาณเปรียบด้วยลำต้นส่วนกิ่งก้านสาขาใหญ่น้อยเปรียบด้วยมโนวิญญาณและปัญจวิญญาณ

ทรรศนะเรื่องวิญญาณพัฒนาถึงขั้นภาวะสัมบูรณ์
เรื่อวิญญาณ 8 ตามที่กล่าวมานั้น บางทีท่านแบ่งเป็น 3 คืออาลยวิญญาณ กลิษฏมโนวิญญาณ (หรือมนัส) และประพฤติวิญญาณ (วิถีจิต 6 คือ ปัญจวิญญาณและมโนวิญญาณนั่นเอง)
นักปรัชญาโยคาจารบางท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้อาลยวิญญาณเป็นที่มาของวิญญาณทั้งหลายที่เหลือ แต่อาลยวิญญาณนี้หาใช่วิญญาณขั้นต้นหรือสูงสุดไม่ หากถือเป็นเพียงขั้นแรกของกระบวนการทางวิญญาณ ซึ่งเมื่อพัฒนาถึงขึ้นสูงสุดจะเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ที่เรียกว่า วิชญัปติมาตรตา
การที่โยคาจารรับรองความมีอยู่ของวิชญัปติมาตรตานี้เอง ถือกันว่าโยคาจารก้าวขึ้นสู่ระบบปรัชญาจิตนิยมสัมบูรณ์ (Absolute Idealism)

ทรรศนะเรื่องตัวตน
โยคาจารถือว่า อัตตาหรือตัวเราเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง การหลงผิดสำคัญผิดว่า มีตัวเราของเรานั่นเองเป็นสาเหตุแห่งปวงทุกข์ เพราะเมื่ออัตตาไม่มีอยู่จริงเราถือได้อย่างไรว่า อัตตาเป็นผู้รู้ ผู้ทำกรรม และผู้เสวยผลกรรม ที่พระพุทธิเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับอัตตาไว้ในที่บางแห่งเป็นทำนองว่า มีอยู่จริงนั้น ก็เพื่ออนุโลมตามผู้ฟังที่เป็นสามัญชน เพื่อชักนำให้ประพฤติดีประพฤติชอบ ละเว้นความชั่วทำแต่ความดี แต่เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ตามหลักอนัตตาแล้ว ไม่มีตัวเราของเรา การที่หลงยึดถือว่ามีตัวเราของเรานั้นเนื่องมาจากอวิชชา คือความรู้ผิด ๆ นั่นเอง
ท่านอสังคะและท่นวสุพันธุ์กล่าวไว้ชัดว่า อัตตาเท่านั้นไม่มีตัวจริงแต่อาลยวิญญาณมีอยู่จริง ๆ ท่านอสังคะเน้นว่า อัตตานั้นเป็นมายา คือจะว่าจริงก็ไม่ใช่ ไม่จริงก็ไม่ใช่ จริงและไม่จริงก็ไม่ใช่ ฉะนั้นความหลุดพ้นหรือวิมุติจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะดับมายาเท่านั้น

ทรรศนะเรื่องปัจจัย 4
โยคาจารถือว่า ปัจจัยหรือเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดผลต่าง ๆ นั้นมี 4 อย่างคือ
1. เหตุปัจจัย ได้แก่พีชะของธรรมหนึ่ง ๆ เป็นเหตุโดยตรงก่อให้เกิดธรรมนั้น ๆขึ้น
2. อนันตรปัจจัย ได้แก่จิต เจตสิก ที่เกิดดับสืบเนื่องเป็นขณะ คือขณะแรกดับ ขณะหลังเกิด ติดต่อกันเรื่อยไปไม่มีระหว่าง
3. อารัมมณปัจจัย ได้แก่ทรรศนภาคของจิต ถือเอาลักษณภาคของจิตเป็นอารมณ์
4. อธิปติปัจจัย ได้แก่ธรรมที่ส่งเสริมแก่กันและกันให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนสำเร็จ เช่น พีชะเป็นเหตุปัจจัยแก่ต้นไม้ ส่วนแสงแดด การรดน้ำ พรวนดิน และให้ปุ๋ย เป็นอธิปติปัจจัยแก่ต้นไม้นั้น
รูปธรรมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยและอธิปติปัจจัย ส่วนนามธรรม คือจิตและเจตสิก เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยทั้ง 4 อย่าง (ในอภิธรรมสายบาลี จำแนกปัจจัยไว้ถึง 24)

ทรรศนะเรื่องปฏิจสมุปบาท 12
โยคาจารจัดระเบียบปฏิจสมุปบาทออกเป็นเหตุและผลดังนี้ อวิชชาสังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปาทาน และภพเป็นเหตุ ชาติชรามรณะ เป็นผล และถือว่า กฏปฏิจสมุปบาทเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นจริงแน่นอน ซึ่งตรงกันข้ามกับทรรศนะของมาธยมิกะที่ถือว่า กฎนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่จริง
ความจริง ทั้งโยคาจารและมาธยมิกะก็ถูกด้วยกัน เพราะมองกันคนละแง่ กล่าวคือโยคาจารถือว่า สังขตธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกฎปฏิจสมุปบาทนั่นคือเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ก็เพราะอาศัยเหตุปัจจัย และดับไปก็เพราะอาศัยเหตุปัจจัย หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า สังขตธรรมทั้งหลายอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้น โยคาจารจึงตั้งเป็นกฎว่า สิ่งที่อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นนั้น จะต้งอดับไปอย่างแน่นอนปฏิจสมุปบาทจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นจริงดังกล่าว ส่วนมาธยมิกะถือว่าสิ่งใดก็ตามที่อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นตามหลักปฏิจสมุปบาท สิ่งนั้นเป็นศูนย์ตา คือว่างจากความจริง ปฏิจสมุปบาทจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่จริง ด้วยประการฉะนี้

ทรรศนะเรื่องไตรสภาวะหรือสัจจะ 3 ประการ
ทฤษฎีไตรสภาวะหรือสัจจะ 3 ประการ นับว่าเป็นหลักการสำคัญยิ่งของปรัชญาโยคาจาร และเป็นปัญหาข้อโต้เถียงกันกับปรัชญามาธยมิกะอย่างรุนแรง สภาวะทั้ง 3 ที่ว่านี้คือ
1. ปริกัลปิตลักษณะ คือสภาวะที่หลงผิดยึดถือผิดในสิ่งทั้งหลายที่ปราศจากตัวตนว่าเป็นตัวตน ที่ไม่เที่ยงแท้ ที่ไม่มีอยู่จริงว่ามีอยู่จริง อุปมาดังบุคคลเดินไปในที่มืด เหยียบถูกเชือกเข้าสำคัญว่างู สภาวะที่สำคัญผิดคิดว่าเชือกเป็นงูนี้ เรียกว่า ปริกัลปิตลักษณะ ความรู้ที่บอกถึงลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า ปริกัลปิตชญาน
2. ปรตันตรสภาวะ ได้แก่สังขตธรรมต่าง ๆ มีจิต เจตสิก รูป เป็นต้น ที่เกิดมาจากเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นคือ เหตุปัจจัย อนันตรปัจจัย อารัมมณปัจจัยและอธิปติปัจจัยนั้นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่สังขตธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยสิ่งอื่นอีกสิ่งหนึ่ง คือ พีชะทั้งหลายในอาลยวิญญาณ ความรู้ที่บอกลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ปรตันตรชญาน
3. ปริณิษปันนสภาวะ ได้แก่อสังขตธรรม คือนิพพาน และสภาพปรมัตถ์ของสิ่งทั้งหลาย คือสภาพของสังขตธรรมที่ต้องเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสภาพของอสังขตธรมที่เป็นอนัตตาอย่างเดียว สภาพปรมัตถ์ 3 อย่างคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ จัดเป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม กล่าวคือไม่มีใครก่อตั้งหรือมีสิ่งใดมาปรุงแต่ง ไม่อาจกลับกลายเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้ เช่นสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นจะขืนให้ไม่เป็นทุกข์ไม่ได้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นจะเปลี่ยนเป็นแท้เที่ยงไม่ได้ สิ่งใดว่างเปล่าจากตัวตนคือไม่มีสัตว์ บุคคล จะขืนให้มีตัวตนขึ้นมาไม่ได้ สภาพปรมัตถ์นี้แหละชื่อว่า ปริณิษปันนสภาวะ และเรียกความรู้ที่เข้าถึงปรมัตถสัจจะนี้ว่า ปริณิษปันนชญาน
กล่าวโดยสรุป ปริณิษปันนสภาวะ ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา อย่างเที่ยงแท้แน่นอน

เทียบทรรศนะเรื่องไตรสภาวะของมาธยมิกะ
ได้กล่าวแล้วว่า ทฤษฎีเรื่องไตรสภาวะของโยคาจารนี้เป็นปัญหาข้อโต้เถียงกันกับปรัชญามาธยมิกะอย่างรุนแรง บัดนี้ขอนำทรรศนะของมาธยมิกะเรื่องนี้มาไว้ในที่นี้ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกันไป
ปรัชญามาธยมิกะนั้นถือว่า ปรตันตรสภาวะกับปริณิษปันนสภาวะเป็นเพียงสมมุติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะอย่างที่ปรัชญาโยคาจารเข้าใจ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ทั้งปริกัลปิดลักษณะ ปรตันตรสภาวะและปริณิษปันนสภาวะเป็นศูนยตาคือว่างจากความเป็นจริง
อาจารย์ภาววิเวกแห่งมาธยมิกะให้เหตุผลไว้ว่า “สังขตธรรมและอสังขตธรรมนั้นเป็นศูนยตา เพราะสังขตธรรมเกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งใดเกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งใดเกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งนั้นเป็นมายา ส่วนอสังขตธรรมก็เป็นศูนยตา เพราะไม่มีการเกิดขึ้นสิ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้น ก็ชื่อว่าไม่มี เหมือนหนวดเต่า เขากระต่าง และดอกฟ้าซึ่งไม่มีอยู่จริง”
เหตุผลของอาจารย์ภาววิเวกนี้เมื่อจัดเรียงเป็นตรรกบทจะได้ดังนี้
ปฏิญญา : สังขตธรรมและอสังขตธรรมเป็นศูนยตา
เหตุ : เพราะเมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สิ่งทั้งปวงไม่มี
อุทาหารณ์ : สังขตธรรมเป็นสภาพหลอกลวง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเหมือนสิ่งมายาทั้งหลาย ส่วนอสังขตธรรมไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดชื่อว่าไม่มีทั้งการณะ (เหตุ) และการิยะ (ผล) เหมือนหนวดเต่า เขากระต่าย และดอกฟ้า
อุปนัย : สิ่งใดเกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งนั้นไม่มีภาวะที่แน่แท้ในตัวเอง เป็นศูนยตา สิ่งใดไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิด สิ่งนั้นเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง เป็นศูนยตา สังขตะมีเหตุปัจจัย อสังขตะไม่มีเหตุปัจจัย
นิคมน์ : เพราะฉะนั้น ทั้งสังขตะและอสังขตะจึงเป็นศูนย์ตา
ปรัชญาโยคาจารโต้ว่าปริกัลปิตลักษณะจัดว่าเป็นศูนยตาได้ เพราะเมื่อพิจารณาตามความจริงแล้ว เป็นของไม่มีอยู่เลย เราตกตะลึงเห็นไปเองด้วยอำนาจความเขลาว่า มีตัวตน สัตว์ บุคคล เช่นเดียวกับเห็นเชือก เข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูแต่ปรตันตรสภาวะและปริณิษปันนสภาวะ จะพลอยเป็นศูนย์ตาด้วยไม่ได้ ปรตันตรสภาวะกับปริณิษปันนสภาวะอาศัยกันอยู่ ไม่ใช่เป็นหนึ่งและก็ไม่ใช่เป็นสองปรตันตรสภาวะมีอยู่โยปรมัตถ์ แต่เป็นการมีอยู่อย่างสังขตะคือเกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิดสืบสันตติ มีอยู่โยปัจจัยเกื้อหนุน ถ้าจะจัดให้เป็นศูนยตาก็เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเองไม่ได้ คือสูญจากการเกิดขึ้นได้เองเท่านั้น แต่ตัวสภาวะจะพลอยสูญด้วยหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะถ้าตัวปรตันตรสภาวะพลอยสูญเหนือไม่มีอยู่จริงด้วย ก็ชื่อว่าไม่มีปทัฏฐานอะไรที่จะให้เกิดปริกัลปิตลักษณะขึ้นได้เลย เช่นการที่จะเกิดความเข้าใจผิดว่างูนั้น จำต้องมีเชือกเป็นวัตถุรองรับสภาพหลงผิดว่างูนั้นอยู่ หากไม่มีเชือกแล้ว ความเข้าใจผิดว่างูจะไม่เกิดขึ้นเลย เช่นเดียวกับการที่เราสมมุติบัญญัติสัตว์บุคคลขึ้น ก็จำต้องมีปัญจขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นฐานรองรับบัญญัติ ถ้าไม่มีสภาพใด ๆ รองรับสมมุติปัญญัติเลยการสมมุติบัญญัติก็ไร้ความหมาย อนึ่งถ้าฝ่ายมาธยมิกะถือว่า ปรตันตรสภาวะไม่มีอยู่จริง ก็เป็นการลบล้างกฎแห่งกรรมของพระพุทธองค์ด้วย ทั้งนี้ตามความจริงปรากฏแก่เราว่า ถ้าปราศจากสภาวะที่แน่นอนในตัวของมันเอง เช่นกุศลสภาวะอกุศลสภาวะแล้วไซร้ ความเห็นนั้นนับเป็นอุจเฉกทิฐิ แม้ตามปรากฏการณ์ธรรมดาที่เราเห็นอยู่ เช่นปลูกถั่วก็ออกผลเป็นถั่ว ปลูกมะพร้าวย่อมออกผลเป็นมะพร้าว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นอยู่ชัดแจ้งว่า ถั่วต้องมีสภาวะแน่นอนคือความเป็นถั่วในตัวของมันเอง มะพร้าวก็ต้องมีสภาวะแน่นอน คือความเป็นมะพร้าวในตัวของมัน เมื่อเพาะปลูกลงไปแล้ว ก็ได้อาศัยปัจจัยส่งเสริม ก็งอกงามเติบโตขึ้นมาถ้าไม่มีสภาวะในตัวของมันเองแน่แล้ว ปลูกถั่วก็อาจงอกผลออกเป็นมะพร้าวปลูกมะพร้าวก็อาจงอกผลออกเป็นถั่ว ฉะนั้นตามความจริง ปรตันตรสภาวะต้องมีอยู่ ไม่ใช่สูญ แต่เป็นการมีอยู่ชนิดที่ไม่คงทน อาศัยปัจจัยดำรงอยู่
โยคาจารกล่าวต่อไปว่า ความฝันซึ่งเป็นของไร้ความจริงนั้น ก็ยังต้องอาศัยจิตของผู้ฝันเป็นปทัฏฐาน กลมายาทั้งหลายหาใช่ว่าอยู่ ๆ จะมีผุดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ แต่จำต้องอาศัยผู้แสดงด้วย ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างสูญอย่างมติของมาธยิกะแล้ว มายาเหล่านั้นจะมีขึ้นมาได้อย่างไรเล่า
อนึ่ง มาธยมิกะถือว่านิพพานก็สูญดุจดอกฟ้า เพราะไม่มีการเกิดขึ้นนั้นโยคาจารโต้ว่าหามิได้ นิพพานที่ชื่อว่าสูญนั้น เพราะสูญจากตัวตน บุคคล สัตว์ และปวงกิเลสต่างหาก นิพพานมีอยู่จริง เป็นอารมณ์แห่งมรรคจิตผลจิต เมื่อบุคคลรู้แจ้งในปริกัลปิตลักษณะว่า เป็นความเท็จ ปราศจากแก่นสาร และรู้แจ้งในปรตันตรสภาวะตามเป็นจริงด้วยถาภูตญานทัศนะแทงทะลุในไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว นิพพานก็จักปรากฏแก่เขาผู้นั้น ถ้านิพพานสูญดุจดอกฟ้า หนวดเต่า เขากระต่าย ดังเช่นความเห็นของฝ่ายมาธยมิกะแล้ว การละกิเลสก็เป็นโมฆะ การบำเพ็ญมรรคภาวนาก็เป็นโมฆะ ไม่มีพระพุทธเจ้า และพระสาวก
ในโยคาจารภูมิศาสตร์ได้ประณามความเห็ฯของมาธยมิกะไว้อย่างรุนแรงว่าเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นอุจเฉทวาท นัตถิกวาท เช่นข้อความตอนหนึ่ง ว่าดังนี้
“มีบุคคลจำพวกหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ ที่เกิดทิฐิวิปลาสถึงข้างนัตถิถะเกิดทัศนะอย่างนี้ขึ้น ตั้งหลักศาสตร์อย่างนี้ขึ้นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นมายาหมดผู้ใดมีทัศนะเช่นนี้จึงเรียกว่าผู้มีสัมมาทัศนะ บุคคลเหล่านี้ได้คัดค้านสภาวธรรมที่รองรับสมมุติบัญญัติ ปฏิเสธสภาวธรรมที่รองรับความเป็นมายาว่าไม่มีอยู่จริง ซึ่งถ้าเป็นจริงดังนั้น ความเห็นที่ว่าทุกสิ่งเป็นมายาก็ควรเป็นของไม่มีไปด้วย จะมีความจริงที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นมายานี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุผลดังนี้บุคคลพวกนี้ชื่อว่าได้คัดค้านความจริงและความเป็นมายาว่า ไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นพวกอตินัตถิกบุคคลอันบัณฑิตผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ควรพูดจาด้วยไม่ควรอาศัยร่วมกัน พวกอตินัตถิกบุคคลเหล่านี้ชื่อว่าได้ทำลายตนเอง และทำลายผู้อื่นที่เชื่อถือตามในโลกแล้ว”
แม้โยคาจารได้โต้แย้งอย่างรุนแรงเช่นนี้ก็ตาม มาธยมิกะก็ยังคงถือหลักว่า สิ่งที่เป็นอยู่โดยตัวมันเองจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นช่วยสิ่งที่อาศัยปัจจัยหาใช่สิ่งที่เป็นอยู่โดยตัวมันเองไม่ อนึ่ง ถ้ามีสิ่งที่มีอยู่โดยตัวมันเองแน่นอนแล้ว การบรรลุมรรคผลก็ไม่ควรมีเช่นกัน
อาจารย์ฝ่ายมาธยมิกะกล่าวว่า โยคาจารเป็นสัสสตทิฐิเข้าใจพระพุทธวจนะไม่ลึกซึ้งเพียงพอ แม้พระพุทธองค์จะทรงเทศนาหลักในสันธินิรโมจนสูตรหรือสูตรอื่น ๆ ก็จริง แต่ที่จริงแล้ว สูตรว่าด้วยไตรสภาวะเหล่านั้นเป็นเพียงปริยายธรรม เป็นเพียงอุบายเท่านั้น ยังหาใช่ความจริงแท้ขึ้นอันติมะไม่ ตราบใดที่อาจารย์ฝ่ายโยคาจารยังถือว่ามีปรตันตระและปริณิษปันนะอันพึงบรรลุถึงอยู่ตราบนั้นก็ชื่อว่ายังมีอุปาทาน
อาจารย์ฝ่ายโยคาจารโต้ตอบข้ากล่าวหาของฝ่ายมาธยมิกะว่า “ปรตันตรสภาวะนั้นมีของมันอยู่อย่างนั้น ฉันไม่ได้ยึดถือนี่ ถ้าบุคคลใดไม่มีอุปาทานขึ้นในปรตันตระ เช่นไม่ยึดถือว่าอาลยวิญญาณเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง ก็ผิดหลักการของเรา”
สรุปว่า ปรัชญาโยคาจารรับรองเรื่องศูนยตาเหมือนกัน แต่ตีความผิดจากปรัชญามาธยมิกะ คือความยึดถือที่ว่ามีสัตว์ บุคคล หรือความยึดถือที่ว่ามีสภาวธรรมที่ไม่ต้องอาศัยจิตเลยมีอยู่ จัดว่าเป็นปริกัลปิตลักษณะ อย่างนี้สูญอย่างแท้จริง ส่วนสภาวธรรมขั้นปรมัตถ์ที่รองรับบัญญัติ มีจิต เจตสิก รูปเป็นต้น เป็นสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ไม่ใช่เกิดลอย ๆ ขึ้นเอง ชื่อว่าสูญได้ คือสูญจากการเกิดขึ้นอย่างลอย ๆ แต่ไม่สูญจากการที่เกิดด้วยเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจึงมีอยู่จริง แต่มีอยู่อย่างไม่เที่ยงคือเกิดดังทุกขณะ ไม่มีตัวตน ชื่อว่าปรตันตรสภาวะส่วนภาวะที่ไร้ทุกข์ ไร้กิเลส กล่าวคือ นิพพานอันเที่ยง อันผู้บำเพ็ญมรรคภาวนาถึงที่สุดก็จักไม่เที่ยง ความเที่ยงที่จักต้องเป็นทุกข์ และความเที่ยงที่ไร้ตัวตนสัตว์ บุคคล สภาวะนี้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ภูตตถาตา อันครอบงำทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม (นิพพานเที่ยงที่ไม่มีตัวตน เที่ยงที่ไม่เป็นทุกข์ และเที่ยงที่จักไม่วิปริตแปรปรวน) ปริณิษปันนสภาวะก็มีอยู่จริง คือมีอยู่อย่างไม่แปรผันเป็นสภาพการณะอันแท้จริงของปรตันตระ ไม่เป็นหนึ่งและก็ไม่เป็นสอง ทั้งนี้เพราะหากเป็นหนึ่ง ปรตันตระ ก็จะกลายเป็นอสังขตธรรมไป ที่ไม่เป็นองดังตัวอย่างเช่นอนิจลักษณะจะแยกไปมีอยู่โดดเดี่ยว ต่างหากจากอนิจสภาวะไม่ได้ฉะนั้น ปริณิษปันนะจึงชื่อว่าศูนยตาก็ได้ คือสูญจากปริกัลปิตลักษณะ สูญจากความหลงผิด สูญจากปวงกิเลส
หลังอภิปรัชญาของโยคาจารยังมีอีกมาก เพราะเป็นสำนักปรัชญาฝ่ายอภิธรรม เช่นเดียวกับสำนักปรัชญาไวภาษิกะ หลักอภิธรรมของโยคาจารเต็มไปด้วยตรรกบทและศัพท์ทางวิชาการที่เข้าใจยาก เช่นเดียวกับหลักอภิธรรมในอภิธรรมปิฏกสายบาลี แต่เนื่องจากจุดประสงค์ในที่นี้ต้องการเพียงให้ทราบโดยสังเขปว่า ปรัชญานี้มีแนวความคิดทางปรัชญาหนักไปทางใด มิได้มุ่งอธิบายหลักปรัชญาละเอียด จึงขอยุติหลักอภิปรัชญานี้ไว้แค่นี้ก่อน





จริยศาสตร์
วัฎจักรกับการบำเพ็ญธรรม
พุทธศาสนาทุกนิกายเห็นตรงกันว่า มีการเวียนว่าตาย-เกิดในวัฏสงสารที่เรียกว่า วัฏจักรแห่งชีวิต คนหนึ่ง ๆ อาจเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน การบำเพ็ญธรรมนพระศาสนานี้ ก็เพื่อยุติการเกิดหรือทำลายวัฏจักรแห่งชีวิตนั้นเอง
ท่านอสังคะกล่าวไว้ว่า การทำลายวัฏจักรนั้นจะทำได้โยอบรมให้มีความรู้ชอบและประกอบแต่กรรมดี จนสามารถเข้าถึงวิมุติได้ในที่สุด ท่านแนะวิธีปฏิบัติไว้เป็นขั้น ๆ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ต้องรู้ตระหนักว่า วัตถุภายนอกเป็นอารมณ์ของจิตเท่านั้น หามีอยู่จริง ๆ ไม่ สิ่งที่มีอยู่จริง ๆ ก็คือ จิต
ขั้นที่ 2 ต้องรู้ตระหนักว่า จิตแต่ละดวงเป็นเพียงจินตนาการกับอารมณ์ของมัน เมื่อตัดทวิภาพระหว่างจิตกับอารมณ์ออกไปได้แล้ว เขาก็จะก้าวขึ้นสู่การรู้แจ้งภาวะสัมบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกภาพอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งหลาย เป็นความจริงแท้ขั้นอันติมะ สามารถขจัดข้อบกพร่องของปัญญาขั้นเหตุผลให้หมดไปได้ เปรียบเหมือนยาที่มีกำลังแรงกล้า สามารถขจัดยาของพิษออกไปได้ ฉะนั้น
เมื่อพระโพธิสัตว์ได้เข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดนี้แล้ว ก็บรรลุญาณที่ 4 และเสวยสุขอยู่เรื่อยไป แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็มีคุณสมบัติพร้อมจะทำงานเพ่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฆสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด
ท่านอสังคะกล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า “อันภาชนะใส่น้ำเมื่อแตกแล้ว แสงสะท้อนจะดวงจันทร์ในน้ำแห่งภาชนะนั้นย่อมไม่ผ่องใส ฉันใด บุคคลผู้ไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมไม่เห็นแจ้งทุกสภาวะ ฉันนั้น เมื่อบุคคลรู้แจ้งเห็นจริงว่า อัตตาและธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่จริง และเห็นแจ้งซึ่งสัจธรรมอันเป็นเอกดังนี้แล้วเขาจะรู้แจ้งอาลยวิญญาณ”

ปัญจโคตร
ปรัชญาโยคาจารได้แบ่งสภาพของสัตว์ทั้งปวงออกเป็น 5 โคตร เรียกตามศัพท์ทางวิชาการว่า ปัญจโคตร จัดเป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยามคือ มีอยู่ตามธรรมชาตินับแต่กาลอันกำหนดไม่ได้ ปัญจโคตร คือ
1. สาวกโคตร ได้แก่สัตว์ผู้มีสาวกพีชะอยู่ จึงสามารถบรรลุสาวกภูมิหรืออรหัตภูมิได้เป็นอย่างสูง
2. ปัจเจโคตร ได้แก่สัตว์ผู้มีปัจเจกพีชะอยู่ จึงสามารถบรรลุได้เฉพาะปัจเจกภูมิเท่านั้น
ทั้ง 2 พวกนี้ละกิเลสาวรณะได้ยังละธรรมาวรณะไม่ได้
3. ฑพธิสัตวโคตร ได้แก่สัตว์ผู้มีโพธิสัวพีชหรืออนุตรสัมโพธิพีชะสามารถบรรลุถึงโพธิสัตวภูมิ และพุทธภูมิ ละพุทธภูมิ ละกิลสาวรณะและธรรมาวรณะได้เด็ดขาด
4. อนิยตโคตร ได้แก่สัตว์ผู้มีทั้งสาวกพีชะ ปัจเจกพีช และโพธิสัตว์พีชะสามารถบรรลุสาวกภูมิ ปัจเจกภูมิ และสัมมาสัมพุทธภูมิได้ สุดแล้วแต่ประณิธาน
5. อิจฉันติกโคตร ได้แก่สัตว์ผู้ไม่มีอนาสวพีชะ 3 แห่งภูมิ 3 (สาวกภูมิ ปัจเจกภูมิ โพธิสัตวภูมิ) เลย จึงไม่อาจละกิเลสาวรณะ และธรรมาวรณะได้และไม่สามารถบรรลุโลกุตรภูมิได้เลย บรรลุได้แต่โลกิยสมมุติ เช่น มนุษย์สวรรค์ เท่านั้น

ทศภูมิของพระโพธิสัตว์
ผู้ปรารถนาจะบรรลุโพธิสัตวภูมิและพุทธภูมิ จะต้องบำเพ็ญบารมี 6 ประการ หรือ 10 ประการ และต้องดำเนินตามทศภูมิของพระโพธิสัตว์ดังนี้
1. มุทิตาภูมิ พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม มีความยินดีในการกำจัดทุกข์ของสรรพสัตว์ คือบำเพ็ญหนักในทานบารมี
2. วิมลาภูมิ พระโพธิสัตว์ละมิจฉาจริยาได้ขาด ประพฤติแต่สัมมาจริยาคือบำเพ็ญหนักในศีลบารมี
3. ประภาการีภูมิ พระโพธิสัตว์ต้องมีความอดกลั้นทุกประการ คือ บำเพ็ญหนักในขันติบารมี
4. อรรถจีสมดีภูมิ พระโพธิสัตว์ต้องมีความเพียรกล้าในการบำเพ็ญคุณธรรม เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ คือ ต้องบำเพ็ญหนักในเรื่องของวิริยบารมี
5. ทุรชยาภูมิ พระโพธิสัตว์ละขาดซึ่งภาวะแห่งยาน 2 ( สาวกยานและปัจเจกยาน ) ซึ่งเป็นธรรมาวรณะต่อพุทธภูมิ คือ บำเพ็ญหนักในสมาธิบารมี
6. อภิมุขีภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญยิ่งในปัญญาบารมี รู้ชัดในปฏิจจสมุปบาท
7. ทูรังคมาภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในเรื่องอุปายบารมี
8. อจลภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในประณิธานบารมี
9. สาธุมดีภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในพลบารมี
10. ธรรมเมฆภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในญาณบารมี มีอิสระไม่ผูกติดในสิ่งทั้งปวง ดุจเมฆลอยซึ่งลอยละล่องอยู่ท่ามกลางนภากาศอย่างเสรี
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในกาลทั้ง 3
โยคาจารได้จัดระเบียบการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ออกเป็น 3 กาล คือ
1. ปฐมกาล พระพุทธองค์ทรงเทศนาอัสติธรรม คือ เทศนาอริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12 คือ ทรงแสดงหลักธรรมฝ่ายสาวกยาน
2. มัชฌิมกาล พระพุทธองค์ทรงเทศนาศูนยตาธรรม คือ เทศนาคติ ศูนยตาตามนัยมาธยิกะแก่สาวกฝ่ายมหายาน
3. ปัจฉิมกาล พระพุทธองค์ทรงเทศนาหลักธรรมขั้นอันติมะที่แท้จริง คือ ทรงเทศนาหลักธรรมในฝ่ายโยคาจาร ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ติดทั้งอัตถิตาและนัตถิตา คือ ไม่ติดทั้งในความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ฉะนั้น ปรัชญาโยคาจารจึงสูงกว่าปรัชญามาธยมิกะ นี้เป็นวาทะของฝ่ายโยคาจาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น