หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีมากมาย แต่โดยสรุปแล้วจะมีหลักการหรือหัวใจพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า พระคาถาของพระอัสสชิ มาเป็นเครื่องพิจารณา เมื่อพระอัสสชิ ได้พบกับพระสารีบุตรแต่ก่อนบวชพระสารีบุตรได้ถามถึงใจความของพระพุทธศาสนา ว่ามีอยู่อย่างไร โดยย่อที่สุดพระอัสสชิได้ตอบว่า โดยย่อที่สุดแล้ว ก็คือ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต, เตสญฺจ โย นิโรโธ จ,เอวํวาที มหาสมโณ, เป็นใจความสั้น ๆ เพียงเท่านี้ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเรา ก็ว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่าใด เกิดมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าท่านทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้นพร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิง ของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุ, พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้” นี้ เป็นคำตอบของพระอัสสชิ แต่ถือกันว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ในทุกประเทศที่เป็นพุทธบริษัท ถึงกับมีการจารึกลงในแผ่นอิฐ มาตั้งแต่ครั้งใกล้สมัยพุทธกาล คือยุคสมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมาทีเดียว เป็นตัวอักษร ๔ บรรทัดนี้เท่านั้น ถือกันว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นใจความของพระพุทธศาสนา
ถ้าเอาตามหลักนี้ ก็กล่าวได้ว่า ใจความของพุทธศาสนานั้น คือการบอกให้รู้ว่า “สิ่งทั้งปวงนั้น มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา มันดับไม่ได้จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน” แม้ใจความสำคัญนี้ ก็เป็นการชี้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือเป็นการชี้ให้รู้ว่าอย่าไปเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์อะไรเป็นตัวตนที่ถาวร ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่สิ่งที่เกิดงอกงามออกมาจากเหตุ และงอกงามเจริญเติบโตต่อไปโดยอำนาจของเหตุ และจะดับไปเพราะความสิ้นสุดของตัวเหตุ คำว่าเหตุในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง ซึ่งเราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัจจัย ก็ได้ สิ่งหนึ่ง ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยแต่งสิ่งอื่นๆ สืบต่อกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หรือปรากฏทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ไม่มีตัวมันเองที่เป็นของอิสระตายตัว เป็นแต่ความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็นผลของสิ่งที่เป็นเหตุที่ปรุงแต่งกันไม่หยุด เพราะอำนาจของธรรมชาติมีลักษณะปรุงไม่หยุดยั้งสิ่งต่างๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด และเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุด พุทธศาสนาจึงบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน (อนัตตา) มีแต่ความที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไป และเป็นความทุกข์(ทุกขัง)รวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ จะไม่มีความทุกข์ ก็ต่อเมื่อหยุดหรือดับ ก็ต่อเมื่อดับเหตุ ทำเหตุนั้นให้หยุดให้ดับ ไม่ให้มีการปรุงสืบไป ข้อนี้เป็นการบอกว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึกซึ้ง อย่างสุดสามารถที่คนเราหรือว่าผู้มีสติปัญญาตามธรรมดาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริง ๆ
ไตรลักษณ์ กระบวนการตามกฎธรรมชาติ
กฏธรรมชาตินี้ เป็นธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม [1] คือกฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดาไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใด ๆ กฎธรรมชาตินี้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านี้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลก สำหรับไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติ ว่าดังนี้
“ตถาคต(พระพุทธเจ้า) ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
๑.สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง...........
๒.สังขารทังปวง เป็นทุกข์...............
๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา...............
ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...... สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์.......... ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา......” [3]
ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณ์ แปล่ว่า สามัญลักษณะ แปลว่าลักษณะทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ซึ่งได้ความหมายเท่ากัน เพื่อความเข้าใจง่ายๆ จะแสดงความหมายของไตรลักษณ์ ( The Three Characteristics of Existence ) โดยมีใจความดังนี้
๑. อนิจจตา ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก้ผู้เข้าไปจะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน
๓. อนัตตา ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง
สิ่งทั้งหลายหากจะกล่าวว่ามีก็ต้องว่ามีอยู่ในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน เกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย จึงเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง เมื่อต้องเกิดดับไม่คงที่ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมมีความบีบคั้นกดดัน ขัดแย้ง และแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว และเมื่อทุกส่วนเป็นไปในรูปกระแสที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาขึ้นต่อเหตุปัจจัยเช่นนี้ ก็ย่อมไม่เป็นตัวของมัน มีตัวตนแท้จริงไม่ได้
ในกรณีของสัตว์บุคคล ให้แยกว่า สัตว์บุคคลนั้นประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ เป็นอันตัดปัญหาเรื่องที่จะมีตัวตนเป็นอิสระอยู่ต่างหาก จากนั้นหันมาแยกขันธ์ ๕ ออกพิจารณาแต่ละอย่าง ๆ ก็จะเห็นว่า ขันธ์ทุกขันธ์ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เป็นสภาพบีบคั้นกดดันแก่ผู้เข้าไปยึด เมื่อเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวตน ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะแต่ละอย่าง ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยไม่มีตัวตนของมันเอง อย่างหนึ่ง เพราะไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นของของสัตว์บุคคลแท้จริง (ถ้าสัตว์บุคคลนั้นเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ แท้จริง ก็ย่อมต้องบังคับเอาเองให้เป็นไปตามความต้องการได้ และไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพที่ต้องการได้ เช่น ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย เป็นต้น) อย่างหนึ่ง
พุทธพจน์แสดงไตรลักษณ์ในกรณีของขันธ์ ๕ มีตัวอย่างที่เด่น[4] ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา หากรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ จักเป็นอัตตา (ตัวตน) แล้วไซร้ มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป ฯลฯ ในวิญญาณว่า “รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย” แต่เพราะเหตุที่รูป ฯลฯ วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป ฯลฯ วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใคร ๆ ไม่อาจได้ตามความปรารถนา ในรูป ฯลฯ วิญญาณ ว่า “รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นไฉน?”
“รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?” (ตรัสถามที่ละอย่าง จนถึงวิญญาณ)
“ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือ เป็นสุข ?”
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเฝ้าเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ?”
“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้อง ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา”[5]
คำสอนเรื่องลักษณะ ๓ ประการนี้ มีวิธีที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งมากมาย หลายอย่างหลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าเอาผลของการปฏิบัติจนเห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้เป็นหลักแล้ว เราจะพบว่ามีข้อที่สังเกตได้ง่าย ๆ ข้อหนึ่ง คือ การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าอยากน่าปรารถนาในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้สรุปสั้น ๆ [6] ว่า “ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” นี้เป็นความหมายที่กะทัดรัดที่สุดของการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นหลักธรรมะที่สามารถอธิบายครอบคลุมหลักธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนาได้อีกหลักธรรมหนึ่ง
[1] ในคัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถาแบ่ง นิยาม หรือ กฏธรรมชาติเป็น ๕ อย่าง คือ
๑.อุตุนิยาม ( physical inorganic order) กฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับอุณหภูมิ โดยเฉพาะเรื่องลมฟ้าอากาศ และฤดูกาลในทางอุตุนิยม อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์
๒.พีชนิยาม (physical organic order ) กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการสืบพันธ์ รวมทั้งพันธุกรรม
๓.กรรมนิยาม ( order of act and result ) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ
๔.ธรรมนิยาม ( order of the norm ) กฏธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย
๕.จิตนิยาม (psychic loaw ) กฏธรรมชาติเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของจิต (ที.อ.๒/๓๔,สังคณี, อ.๔๐๘)
[2] คำว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์นี้ ต้องเข้าใจว่าต่างกับคำว่าสังขารในขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ เท่ากับความดีความชั่วปรุงแต่งจิตใจ เป็นนามธรรมอย่างเดียว ส่วนในไตรลักษณ์ สังขาร หมายถึงสี่งทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือเกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประชุมกันเข้า จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม คือ เท่ากับขันธ์ ๕ ทั้งหมด
[3] องฺ .ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘
[4] พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) พุทธธรรม,มูลนิธิพุทธธรรม,กรุงเทพ ฯ ๒๕๔๑ หน้า ๖๗-๗๐)
[5] สํ.ข. ๑๗/๑๒๗-๑๒๙/๘๒-๘๔
[6] พุทธทาสภิกขุ,คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์,ธรรมสภา,๒๕๐๐,หน้า ๒๙-๓๑
คึคึ
ตอบลบ