คำว่า “เสาตรานติกะ” ตรงกับภาษาบาลีว่า สุตตันติกะ แปลว่า ผู้ศึกษาหรือปฏิบัติตามพระสูตรหมายความว่าปรัชญานี้นับถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ ไม่ยอมรับพระวินัยปิฎก สำนักปรัชญานี้เป็นของ นิกายสรวาทสติวาท เช่นเดียวกับ สำนักไวภาสิกะ
ใจความสำคัญของสำนักนี้ คือ การยอมรับความจริงแท้ 2 อย่าง ได้แก่ ความจริงแท้ของวัตถุ หรือรูปธรรม กับความจริงแท้ของจิต หรือนามธรรม เช่นเดียวกับไวภาษิกะ จึงจัดเป็นปรัชญาสัจนิยมเหมือนกัน แต่ต่างจากสำนักไวภาษิกะในทางญาณวิทยา กล่าวคือ ไวภาษิกะถือว่า ความแท้จริงของวัตถุหรือความแท้จริงภายนอก สามมารถรู้ได้ด้วยประจักษประมาณ ความแท้จริงของจิตหรือความแท้จริงภายใน รู้ได้ด้วยอนุมานประมาณ หรือประจักษประมาณพิเศษ แต่สำนักเสาตรานติกะ เห็นว่า ความแท้จริงทั้ง 2 ประการนี้ รู้ได้ด้วยอนุมานประมาณเท่านั้น ความแท้จริงภายนอกที่ปรากฏทางประสาทสัมผัสซึ่งไวภาษิกะถือว่า เป็นความจริงแท้ตามความเป็นจริงนั้น เสาตรานติกะ ค้านว่า ที่ปรากฏนั้น เป็นเพียงภาพปรากฏของความแท้จริงที่ไม่ปรากฏ ถ้าจะให้รู้ความแท้จริง
แท้ ๆ ก็ต้องอนุมานเอาจากภาพที่ปรากฏไปหาความแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของภาพที่ปรากฏนั้น พูดถึงการเน้นหนักของสำนักทั้ง2 นี้ ก็ต่างกัน คือ สำนักไวภาษิกะเน้นหนักในด้านความจริงภายนอก ส่วนสำนักเสาตรานติกะเน้นหนักในเรื่องความจริงภายใน และยอมรับหลักปฏิจสมุปบาทเช่นเดียวกับไวภาษิกะ ด้วยเหตุที่ถือว่าความจริงทั้ง 2 อย่างดังกล่าวนี้ สำนักเสาตรานติกะจึงเป็นปรัชญาพวกสัจนิยมดังกล่าวข้างต้น
วรรณกรรมที่สำคัญ
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสำนักปรัชญาต่าง ๆ นั้น ย่อมตั้งขึ้นจากวรรณกรรม ซึ่งอาจเป็นคัมภีร์เดิม หรือคัมภีร์อรรถกถาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญหรือคัมภีร์หลักของสำนักนั้น ๆ เช่น คัมภีร์สำคัญของสำนักไวภาษิกะ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในสำนักเสาตรานติกะนี้ ไม่มีวรรณกรรมใดปรากฏเป็นหบลักฐานว่าเป็นทีมาโดยตรองของสำนักปรัชญานี้ หรืออาจจะมีแต่ผู้ศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันยังไม่พบก็ได้ คัมภีร์ พอจะถือได้ว่าเป็นที่มาของปรัชญานี้ล้วนเป็นคัมภีร์ของสำนักอื่น ๆ ที่กล่าวท้วงติงหรือพาดพิงถึงสำนักนี้เท่านั้น เช่นคัมภีร์สรรพสิทธานตสงเคราะห์ (สรวสิทธานตสงครห) ของท่านสังกราจารย์ คัมภีร์สรรพทรรศนสงเคาะห์ (สรวทรศนสงครห) ของท่านมัธวาจารย์ คัมภีร์สิวัชญานสิทธิยาร ของท่านอรุณันทีศิวาจารย์ (แต่งเป็นภาษาทมิฬ ว่าด้วยปรัชญาไศวะในราวพุทธศตวรรษที่ 18) คัมภีร์สททรรศนสมุจัย ของท่านหริภัทร คัมภีร์อไทวตพรหมสิทธิ ของท่านกาษทีรกะ สทานันทะ ยติ
ไม่มีวรรณกรรมที่ปรากฏเป็นของตนเองก็ตาม ก็หาใช่ว่าพุทธปรัชญาสำนักนี้จะไม่มีชื่อเสียงหรือไม่สำคัญแต่อย่างใด เราทราบจากหลักฐานหลายแห่งว่า มีนิการย่อยของพุทธศาสนาฝ่ายหินยานมีถึง 8 นิกาย ได้เข้ามารวมอยู่ในสำนักปรัชญานี้ คือ นิกายปูรวไศละ อปรไศละ ไหมวตะ โลกุตตรวาทิน ปรัชญัปติวาทิน มหาวิหาร เชตวนียะ และอภยคิริวาสิน
ผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญา
ปัญหาว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาเสาตราติกะ เป็นปัญหาที่ยังค้นคว้ากันอยู่ นักปราชญ์ทั้งหลายยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเป็นผู้ใด เพราะไม่มีวรรณกรรมของตนเองตกมาถึงเราในบัดนี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลวงจีนเหี้ยนจังหรือถังซำจัง ผู้ไปสืบพระศาสนาในอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้บันทึกไว้ว่าผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานี้ ชื่อ ท่านกุมารลาตะ แห่งตักศิลา ซึ่งเชื่อกันว่า ท่านมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๗ หรือที่ ๘ เป็นคนร่วมสมัยกับ ท่านนาครชุน ท่านอารยเทพ และท่านอื่นๆ และเชื่อกันว่าท่านผู้นี้ได้รจนาคัมภีร์ให้สำนักเสาตรานติกะหลายเล่ม แต่ไม่เหลือมาถึงบัดนี้สักเล่มเดียว
บางท่านเชื่อว่า คัมภีร์กัลปนามัณฑ-ฎีกา ซึ่งศาสตราจารย์ลูเดอรส์ ( H. Luders ) เป็นผู้พบนั้น ท่านกุมารลาตะเป็นผู้รจนาเหมือนกัน
ท่านศรีลาภะ ผู้เป็นสานุศิษย์ของท่านกุมารลาตะ ได้รจนาคัมภีร์ให้เสาตรานติกะเล่มหนึ่งชื่อ วิภาษาศาสตร์ ซึ่งก็ไม่มีเหลือมาถึงเราเหมือนกัน
ท่านยโศมิตร ก็เป็นผู้สังกัดในสำนักเสาตรานติกะเหมือนกัน ท่านได้วิจารณ์คัมภีร์อภิธรรมโกศะ ไว้ในคัมภีร์อรรถกถาของท่านชื่อ ศผุฏารถา จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ชี้บอกแนวคิดของสำนักปรัชญานี้ได้บ้าง คัมภีร์นี้มีผู้นำไปตีพิมพ์ที่เลนินกราด และที่ญี่ปุ่น
บรรณานุกรม
ธนู แก้วโอภาส . ปรัชญา-ศาสนา ตะวันออก . กรุงเทพ ฯ : สากลการศึกษา , มปป
อดิศักดิ์ ทองบุญ . ปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์ ฯ , 2524
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น