พระพุทธศาสนามองชีวิตหรือสิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้าหรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่าง ๆ แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ ล้วนประกอบขึ้นมาจากส่วนอื่น ๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันเองเป็นอิสระ ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไป อย่งที่ดูคล้ายกับรักษารูปปนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่าวค่อยเป็นค่อยไป ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่ง
ความเป็นไปต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายเอง ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะเป็นผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ว่า “กฎธรรมชาติ” ลักษณะของชีวิตเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามลักษณะของ “สามัญลักษณะ” ซึ่งแปลว่า ลักษณะที่ทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ดังนี้ [1]
1. อนิจจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
2. ทุกขตา (Stress and Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คงสภาพอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อาศัยด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน
3. อนัตตตา (Soullessness หรือ Non-Self ) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง
ลักษณะของ “ชีวิต” ในพระพุทธศาสนาให้มองว่า “ชีวิต” มีลักษณะที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทั้ง 3 ประการนี้ คือ มีลักษณะที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน คือไม่มีตัวตนที่แท้จริงเพราะเมื่อแยกออกจากส่วนประกอบต่าง ๆ แล้ว “ชีวิต” ก็ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของชีวิตเลย
นามและรูปอยู่รวมกันได้เพราะสามัญลักษณะเหมือนกันคือ มีความเป็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และไม่มีตัวตนถาวร (อนัตตลักษณะ) ชีวิตของมนุษย์เจริญอยู่ได้ด้วยอาหารหล่อเลี้ยง 4 อย่าง คือ [2]
1. กวฬิงการาหาร คือ อาหารที่บริโภค ดื่ม กิน ให้ร่างกายอยู่ได้
2. ผัสสาหาร คือ อาหารใจ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงให้ชีวิตทางจิตมีกระแสอารมณ์ออกมาทางกาย วาจา และใจ
3. มโนสัญญาเจตนาหาร คือ ความหวัง ความตั้งใจอันมีส่วนที่ทำให้ชีวิตจิตใจมีความสดชื่น อยากมีชีวิตอยู่ ที่เรียกว่า ชีวิตินทรีย์เจตสิก
4. วิญญาณาหาร คือ ความรู้และปัญญา
กวฬิงกาลาหาร ทำให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้ มโนสัญเจตนาหารทำให้เกิดการวางเจตนาของการกระทำ ซึ่งทำให้มีปฏิสนธิชีวิตของกรรม และวิญญาณาหารทำให้เกิดความรู้ต่าง ๆ จิตกับร่างกายมีกิจการงานต่างกันแต่จะประสานกัน จึงมีองค์กรรม (การกระทำทั้งหมด) เป็นหน่วยเดียวกัน ซึ่งย่อมส่งผลในทางที่เหมือน ๆ กัน การกระทำทางกายและวาจา ถ้ามีจิตสร้างเจตนาร่วมแล้ว ถือเป็นการกระทำที่มีวิบากกรรมสมบูรณ์ในตัวเอง อันจะส่งผลของการกระทำไปสู่ปัจจุบันและอนาคตของการกระทำนั้นได้ สิ่งเหล่านี้ที่ช่วยให้หล่อเลี้ยงนามรูปให้มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของกรรม
พระพุทธเจ้าของเราทรงชี้ให้มนุษย์ทั้งหลายในโลกทั้งปวงได้รู้ความจริงว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทางแห่งความทุกข์โศกเศร้าหมอง และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หาสาระแก่นสารที่จีรังยั่งยืนไม่ได้ การเกิดของสัตว์ทั้งหลายนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงเหตุปัจจัยที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเฉพาะ อำนาจของอวิชชาคือความไม่รู้หรือความหลงของสัตว์เท่านั้นเอง ในกระบวนการการเกิดของสัตว์นั้น โดยหลักวิชาทางพระพุทธศาสนานั้น มีคำสอนที่ชี้ให้เห็นกระบวนการการสืบทอดที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ไปสู่การเกิดสายพันธุ์แห่งกระบวนการนั้น ได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ และชาติ รวมเป็น 11 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งเรียกกันว่า “ปัจจยาการ” แปลว่า การปรุงแต่งสืบเนื่อง หรือวิวัฒนาการที่เหตุนำให้เกิดผล ดังการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าของเราที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่ 1 เล่มที่ 4 หน้าที่ 2 ข้อที่ 1 ว่า
[3] “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้”
“อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้”
ครั้นทรงพิจารณาอย่างนี้แล้ว 3 วาระ และได้เปล่งพระอุทานคาถา ทั้ง 3 วาระดังนี้
พุทธอุทานคาถาที่ 1
“เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรม
พร้อมทั้งเหตุ”
พุทธอุทานคาถาที่ 2
“เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความ
สิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย”
พุทธอุทานคาถาที่ 3
“เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อม
กำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัย
ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น”[4]
พระพุทธเจ้าของเราให้มองทุกสิ่งทุกอย่าง โดยความเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยของกันและกัน เมื่อเกิดขึ้นก็อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เมื่อดับก็อาศัยกันและกันดับ คือ เมื่อเกิดขึ้นก็มีเหตุมีปัจจัย และเมื่อจะดับก็ดับอย่างมีเหตุมีปัจจัยนั่นเอง การที่จะพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราก็สามารถที่จะทำได้ โดยการกระทำของเราเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดมาแล้วโดยพระเจ้า หรือไม่ใช่จะทำได้ด้วยการอ้อนวอน แต่หากอยู่ทีการลงมีปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่มีใครจะมากำหนดชีวิตของเราได้ นอกจากตัวเราเองเท่านั้น โดยที่ตนเองจะต้องมองให้เห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์เสียก่อนแล้วจึงจะได้หาทางให้พ้นจากความทุกข์นั้น ถ้าเรายังไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาหนทางที่พ้นจากความทุกข์นั้น ตามวิธีแห่งอริยสัจจ์ 4 ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งหนทางที่จะพ้นจากความทุกข์ไปได้นั้น ก็ต้องดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8 คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา วาจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
เมื่อดำเนินตามทางแห่งมรรคมีองค์ 8 นี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นไปได้ที่มนุษย์ทุกคน จะพ้นจากความทุกข์ได้ โดยไม่มีการจำกัดวรรณะ หรือ สีผิว เผ่าพันธุ์ ทุกคนมีโอกาสทำได้เหมือนกัน และเท่าเทียมกันหมด ซึ่งเป็นลักษณะของพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระพุทธเจ้าของเราที่ เป็น ปจจตตํ คือบุคคลจะรู้ได้เองถ้าปฏิบัติ เป็น กลาลิโก คือให้ผลได้ไม่จำกัดกาลเวลา ยุคสมัย หรือแม้แต่เผ่าพันธุ์วรรณะนั่นเอง
บทสรุป
ในปัจจุบันนี้ปัญหาอยู่ที่จิตใจของมนุษย์เรา ที่พวกเราทุกคนเกิดมาแล้วมาสงสัยกันว่า โลกนี้เกิดขึ้นมาจากไหน วิญญาณเกิดมาจากไหน มนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานเกิดมาจากไหน วิญญาณเกิดมาจากไหน คนตายแล้ววิญญาณจะไปไหน ความสุขอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขมาก ๆ ทำอย่างไรเราจึงจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะอะไรเราจึงเป็นทุกข์ กลัดกลุ้มใจ ทำอย่างไรจึงจะหายกลุ้มใจ ฯลฯ นานา แบบนี้ล้วนแต่เกิดมาจากจิตใจของเราทั้งนั้น
ที่จิตของเรามีปัญหาก็เพราะไม่มีความรู้อย่างเพียงพอ เมื่อไม่มีความรู้ จึงไม่รู้ ความไม่รู้นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความหลง ดังนั้นความหลงนั่นแหละที่เป็นตัวผลักดันหรือกระตุ้นให้คนเราใช้ชีวิตไปอย่างมัวเมาไร้จุดหมายเต็มไปด้วยปัญหา จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความหลงจึงเป็นจิตที่มักสร้างปัญหา หมายถึงปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา จิตที่มีความหลงนั้นสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งแวดล้อม จะสร้างให้ดีหรือชั่วก็ได้ แต่แล้วในที่สุดจิตที่มีความหลงก็จะไม่เข้าใจตัวเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างมั่นคงแล้ว จิตของเราจึงดีบ้าง ร้ายบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีความแน่นอนมั่นคง
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าเขามีศาสนาหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเชื่อในเรื่องพระเจ้าหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นนับถือศาสนาไหน นับถืออะไร แต่คนเหล่านั้นตามปกติแล้วก็จะมีปัญหาทางใจด้วยกันทั้งนั้น ปัญหาทางที่เรียกว่าความทุกข์ ล้วนแต่พลุกพล่านสับสนอยู่ในใจทุกคนที่เกิดมาในโลก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก ความอาลัยอาวรณ์ ความหงุดหงิดไม่สบายใจ ความดิ้นรนหาอยู่หากินเพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเอง และญาติมิตรพ่อแม่ลูกเมียผัว ความคับแข้นแน่ในใจหรือน้อยใจ การเกิดเรื่องเลวร้ายที่ไม่อยากให้เกิด ความพลัดพรากจากคนรักของรัก ความผิดหวังและความเดือดร้อนวุ่นวายอื่น ๆ เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นปัญหาของมนุษย์ไม่มีใครหลีกพ้น พระพุทธเจ้าของเราสรุปว่า ปัญหาชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวงนั้นคือ “ความทุกข์” ตถาคตจึงสอนแต่เรื่องความทุกข์และวิธีทำลายความทุกข์ นี่คือเป้าหมายหลักหรือเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ที่ไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มความเชื่อของคน แต่มันเป็นเกณฑ์ของธรรมชาติที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ กล่าวคือ ปัญหาที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์นั้นมันมีอยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของโลก แต่ถ้าคนเราเข้าใจปัญหา คนเราก็ตจะสมารถเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของตัวเอง เมื่อจิตแปดเปื้อนอยู่ด้วยกิเลส ตัณหาและอุปาทานอยู่ตราบใด ตราบนั้นมนุษย์ก็ย่อมจะมีปัญหาชีวิตอยู่ตลอดไป จิตไม่มีทางที่จะเป็นอิสระขึ้นมาได้ ความไม่รู้ก็จะมากขึ้น ความหลงก็มากขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็มากขึ้น ความทุกข์ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จะไปนับถือศาสนาไหนปัญหาทางใจเหล่านี้ก็ไม่หมด จะไปไหว้วอนบวงสรวงเทวดาฟ้าดินที่ไหน ความทุกข์ก็ไม่หมดไป เพราะจิตเป็นจิตที่เปื้อน ที่จิตเปื้อนก็เพราะไม่ได้รับการขูดเกลา ไม่ได้รับการฝึกหัดนั่นเอง แต่ในกระบวนการตามธรรมชาตินั้นเอง จิตของคนเราทุกคนจะข้ามพ้นจากปัญหาชีวิตอันทุกข์ทนหม่นไหม้ทุดอย่างได้จริง ไม่ใช่เรื่องคิดเอา ไม่ใช่เรื่องหลอกตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่จิตของพวกเราทุกคนจะพ้นจากอารมณ์อันมืดมัวเศร้าหมองในโลกได้ ถ้าได้รับการฝึกหัด จิตที่ฝึกหัดดีแล้วจะไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการตายใด ๆ ไม่มีการท่องเที่ยวไปในภพชาติไหน ๆ ไม่มีสิ่งปรุงแต่งที่จะมาปรุงให้สุขหรือทุกข์ ดีใจหรือเสียใจต่อไปอีก ความทุกข์จะไม่มีอยู่ในจิตในอีกต่อไป และความรู้แจ้งในสภาวะอันเป็นที่ดับสนิทแห่งความทุกข์และภพชาติทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นในจิตนั้น ชนิดที่ผู้เข้าถึงเท่านั้นที่รู้ได้ว่าสภาวะอันสูงสุดนั้นเป็นจริงอย่างไร
-----------------
บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยมหิดล , พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ BUDSIR ฉบับภาษาไทย-บาลี,2541
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) , พุทธธรรม . พิมพ์ครั้งที่ 6 , มหาจุฬาลงกรณราวิทยาลัย , 2538
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) , นรก-สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์บริษัทสห
ธรรมมิก จำกัด
พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต),วิทยาศาสตร์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพ ฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, 2540
พระสังฆเมธังกร , โลกทีปิสาร , หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปกร พิมพ์เผยแพร่ , 2529
วไลพร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม . จิตวิทยาพุทธศาสนา. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะ
สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เสถียร โพธินันทะ , ปฐมเหตุโลกและชีวิต , พิมพ์ครั้งที่ 1 , กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย,
2525
เสถียรพงษ์ วรรณปก .คำบรรยายพระไตรปิฎก.พิมพ์ครั้งที่ 1 ,กรุงเทพ ฯ : หจก.รัตนชัยการพิมพ์,
2540
สุชีพ ปุญญานุภาพ , พระไตรปิฎกฉบับประชาชน , กรุงเทพ ฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย , 2523
อิสระมุนี , หลวงพ่อ . การเกิดขึ้นของโลกและชีวิต . พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการโดยทุนทั่ว
ไป. 2536 .
[1] พุทธธรรม , พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) , หน้า 68
[2] จิตวิทยาพุทธศาสนา , วไลพร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม , หน้า 48
[3] วินย. 4 / 1 / 2
[4] วินย. 4 / 3 / 5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น