เมื่อเอ่ยถึง คำว่า "อนัตตา" นักธรรม ย่อมคุย ได้ว่า มีแต่ใน พุทธศาสนา เท่านั้น หามีใน ศาสนาอื่นๆ ไม่ แท้จริง ก็เป็นเช่นนั้น แต่ทำไม เราจึงไม่เอา ธรรมะ ข้อนี้ มาเป็นหลัก สั่งสอน ประชาชน โดยตรง ให้สมกับว่า พุทธบริษัท มีธรรมชิ้นเอก อยู่อย่างหนึ่งนี้ ?หลักอนัตตา แบ่งออกได้ ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายโลกิยะ และ โลกุตตระ ฝ่าย โลกุตตระ จักยกไว้ เพราะ ไม่เกี่ยวกับ ประชาชน พลเมืองส่วนมาก ซึ่งยังต้อง หมกอยู่ใน วิสัยโลก เป็นของสำหรับบรรพชิต ผู้บำเพ็ญ ชั้นสูง ส่วนที่เป็นชั้น โลกิยะ นั้นแหละ ข้าพเจ้า เชื่อว่า เหมาะแก่ การอบรม ฆราวาส ทุกชั้น ตั้งแต่ เด็ก จนแก่ และได้ผล ดีกว่า หลักธรรมอื่น เพราะเป็น แก่น พุทธศาสนา ที่แท้จริง ซึ่ง พระพุทธเจ้า ผู้เป็น ยอดนักปราชญ์ ได้บัญญัติขึ้น แปลกจาก ศาสนาทั้งปวง สำหรับโวหาร อย่าง โลกิยะ หลักอนัตตา ถอดใจความได้ว่า "ไม่เห็นแก่ตน" ผู้สอน จงสอนว่า "อย่าเห็นแก่ตน" เพียง วลีเดียว เท่านั้น และ ตนเอง ก็ทำ ตัวอย่าง การไม่เห็นแก่ตน ให้เขาดู อย่างจริงจัง ด้วย จะได้ผลดี เกินคาด มากกว่า ที่จะสอนด้วย หลักธรรม อย่างอื่น อันเป็นฝอย หรือ กิ่งก้าน ของ หลักอนัตตานี้ "ลูกเอ๋ย เจ้า เห็นแก่ตน เกินไป เสียแล้ว" นี่เป็น คำเตือน อย่างมีน้ำหนัก ในเมื่อเด็ก เห็นแก่ ความสนุก หรือ ประโยชน์ ส่วนตัว บางอย่าง แล้ว เบียดเบียน สัตว์เล็กๆ หรือ เพื่อนฝูง ด้วยกัน หรือ ขโมยของๆ ผู้อื่น มาเพื่อตน และพวก ของตน ตลอดจน ดื่มน้ำเมา ในตอนแรกๆ ด้วยความสนุก ลุแก่ใจตน และตลอดถึงเรื่องราว อื่นๆ ทุกอย่าง ที่เป็นฝ่าย ไม่ต้องการให้เด็กทำ นี้เป็นฝ่ายศีล "ลูกเอ๋ย เจ้าจงเห็นแก่ผู้อื่นเถิด" นี่เป็นคำส่งเสริม ให้เด็กๆ บำเพ็ญตน ให้เป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่น ด้วยเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ด้วยสิ่งของ ให้สงวนสิทธิ์ ในของรัก ของกัน และกัน ช่วยกัน รักษา ความสัตย์ แลกเปลี่ยนวิชา และปัญญาแก่กัน อันเป็น หนทาง แห่งความ ไม่ประมาท ตลอดถึง กัลยาณธรรม อย่างอื่น อันเป็นฝ่ายที่ ต้องการ ให้เด็ก ทำนี้ เป็น ฝ่าย ธรรม คู่กับ ฝ่ายศึลหลักอนัตตา เพียง สองข้อ นี้ เท่านั้น อาจจะทำให้ เด็ก แตกกิ่ง แยกก้านสาขา ออกเป็น ศึลธรรม ได้ หลายร้อยประเภท โดยตนเอง ในเมื่อเจริญวัย ขึ้นตามลำดับ ให้ตั้งหลัก ในใจกลางๆ ว่า "ไม่ตัดรอน ประโยชน์ เราท่าน แต่จะบำเพ็ญประโยชน์ ทุกฝ่าย ให้ยิ่งขึ้นไป" เมื่อเด็กถาม ด้วยความสงสัยว่า การกระทำ ที่แปลกออกไป จากที่เคย ห้ามนี้ จะผิด หรือ ถูก ก็จงตอบเด็กนั้นว่า เทียบกับ หลักอนัตตา ที่วางไว้ดูเถิด ถ้าเข้ากัน ก็เป็นการกระทำที่ถูก ถ้าไม่เข้ากัน ก็ผิด ไม่ต้องถามก็ได้ นี่เป็นวิธีที่ เด็ก จะเจริญ ด้วยปัญญา และ ความรู้ ในเรื่อง ศีล และ ธรรมเด็กๆ หรือ คนที่น้อยการศึกษา มีสมองพอ แต่จะรับ หลักธรรม สั้นๆ แต่อาจขยายเอาได้เอง และต้องเป็น หลักใน พุทธศาสนา ชิ้นเอง ฝังแน่น ลงในดวงใจ แล้ว มีฝอยใช้ได้ทุกอย่าง จนตลอดชีวิต นั้น ได้แก่ หลักอนัตตา การห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ เป็นต้น อันเป็นฝอย หรือ สาขา ของหลักนี้ มีทั่วไปใน ศาสนาอื่น ยิ่งสอนมากเข้า ก็จะงง จนไม่รู้ได้ว่า อันไหน เป็นแก่น เป็นกระพี้ แห่ง พุทธศาสนา เมื่อเขา โตขึ้น พอควร ก็จะต้องตรากตรำ ทำการงาน ไม่มี โอกาส เรียน หมวดธรรม แปดหมื่น สี่พัน ให้เข้าใจ ทั่วถึงได้ เราควรให้ หลักธรรม อันเป็น เข็มคอนกรีต ฝังใจ ให้แน่นอน เสียก่อน เพียงอันเดียว ดีกว่าที่จะให้ ส่ายไป ส่ายมา จนเติบโต ก็ยังจับหลัก ไม่ถูก หรือ เข้าใจไปว่า ในพุทธศาสนา มีหลักมากเหลือที่จะจำ เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ ที่น้อยการศึกษา ควรจะได้รับความอบรม อย่างเดียวกัน ด้วยหลักนี้แต่อย่าลืม หลักสำคัญ อีกอันหนึ่งว่า ต้องสอนให้รู้จัก หลักและ ความมุ่งหมายของหลักนั้นๆ เช่น ศีลปาณาติบาต สอนให้รู้จักเคารพสิทธิ ของกันและกัน ในทางร่างกาย และชีวิต คือ อทินนาทาน ในทางสิ่งของ, ศีลกาเมสุมิจฉาจาร ในทางน้ำใจ, ศีลข้อมุสาวาท ไม่ให้คนหลอกลวงผู้อื่น, ข้อสุรา ห้ามไม่ให้เสพคบ กับสิ่งที่ ทำใจ ให้เหไป จากคลองธรรม และใช่ว่า จะจำกัด สิ่ง หรือ เหตุการณ์ เท่าที่ระบุ อยู่ในข้อศีลก็หาไม่ ทั้งหมดนี้ ทุกอย่าง ถ้าไม่มีการเห็นแก่ตน ก็ไม่มีใครล่วง, เพราะฉะนั้น ศีล ก็คือ รากฝอย หรือ สาขา ของ หลักอนัตตา นั่นเอง หลักอนัตตา นี้จักงอกงาม ขึ้นภายในใจ ทุกที จนแม้แต่ร่างกายชีวิต ก็ไม่มีการ ยึดมั่น หวงแหน สละได้ ในเมื่อควรสละ เช่น สละแก่ชาติ คนเรา จะโลภ จะโกรธ จะอิจฉา ริษยา ถือตัว กระด้าง ก็เพราะการ เห็นแก่ตนจัด ศีลธรรมทุกๆ อย่างมีหลักว่า จะขัดเกลา การเห็นแต่แก่ตนทั้งนั้น นานไปข้างหน้า ถ้าผู้นี้จักบวชเป็นบรรพชิต บำเพ็ญ ฝ่ายโลกุตตระ ก็จะสะดวก และง่ายขึ้น เพราะเขาเคย อบรม มาแล้ว ในเบื้องต้น อนัตตา จึงเป็นหลักอันเดียว ที่ใช้ตั้งแต่ ต่ำที่สุด จนถึง สูงที่สุด ตั้งแต่โลกิยะ จนถึง โลกุตตระ คือ นิพพาน ทุกชั้น ทุกเพศมนุษย์ พระพุทธองค์ จึงได้ทรงยกขึ้นเป็นหลักธรรมอันเอกอุแต่ใช่ว่า จะสำคัญแต่ หลักธรรม ที่นำมาสอนก็หาไม่ ผู้สอนยิ่งสำคัญไปกว่านั้นอีก เพราะถึงจะเอาหลักธรรม ที่ดีมาสอน แต่ตนเองไม่ปรารถนาที่จะตั้งอยู่ในหลักอันนั้นแล้ว จะให้ผู้อื่นทำตาม ได้อย่างไร ถ้าอาการ ความเป็นอยู่ของตน ไม่ตรงต่อหลักนั้นแล้ว ผู้สอนจะเป็นภิกษุ หรือยิ่งกว่า ภิกษุ ก็ไม่ได้ผล การบังคับกัน ด้วยเรื่องศาสนานั้น เป็นอาการโหดร้าย ผิดพุทธประสงค์, ซึ่งทรงต้องการให้ อธิบายให้เขาเชื่อด้วยเหตุผล , ไม่ควรทำทุกสมัย ยิ่งบัดนี้ เป็นสมัยที่ต้องพิสูจน์กันด้วยความจริง ไม่ใช่ สมัยใช้อำนาจ หรือ ปาฏิหาริย์ บังคับชักจูง จึงไม่ควรทำ อย่างยิ่ง การบังคับ เป็นอาการแห่งกฏหมาย ที่ใช้แก่ผู้กระทำผิด โดยเจตนา สำหรับศีลธรรมนั้น ผู้สอนทำตัวอย่างแห่งการรับผลของศีลธรรมนั้นให้ดู ผู้อื่นก็สมัครทำตามเอง การสอนศาสนาที่สักแต่ว่าชื่อ ก็คือ การสอนที่ผู้สอนไม่ตั้งตนอยู่ในหลักนั้นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะยกตัวอย่าง ในเรื่องศีลห้า สมมติว่า ผู้สอนเป็นภิกษุ ที่ยินดี ฉันเนื้อ หรือฟองไข่ ที่รู้ชัดเจนว่า เขาทำขึ้น เฉพาะเลี้ยงพระ อันจัดเป็น อุททิสมังสะ ก็ดี หรือ สะเพร่า ต่อสิทธิในร่างกาย หรือ ชีวิตของสัตว์ใหญ่น้อย ก็ดี การสอน ปาณาติบาต ของภิกษุนั้น จักไม่ได้ผล แม้แก่เด็กๆ และถ้าภิกษุนั้น ประพฤติ ตัวเข้าไปใน ทำนอง มหาโจร ๕ จำพวก ในวินัยปิฏก (ดูหนังสือ ชุดภาค ไตรปิฏก แปล เล่ม ๑ หน้า ๒๓) แล้ว ภิกษุนั้น ไม่ควร สอนผู้อื่น ด้วย เรื่อง อทินนาทาน ถ้าเธอเป็นผู้ไม่เคารพ ต่อสิทธิผู้อื่น ในเรื่องประเพณี และ ของรักของหวงแหน ทุกอย่าง เธอนั้นไม่ใช่ ผู้ควรสอนเขา ด้วยเรื่อง กาเมสุมิจฉาจาร อันมีหลักมุ่งหมายเช่นนั้น ถ้าเธอ ยังเป็นนักเทศน์ ที่เทศนาด้วยคำพูดอันเจือ ด้วยคำประจบผู้ฟัง อยู่หลายสิบเปอร์เซนต์ เพื่อเห็นแก่ สักการะ หรืออะไรบางอย่าง เธอก็ไม่ควรสอนเขาด้วยเรื่อง มุสาวาท ถ้าเธอ เป็นคนเมายศ เมาลาภ เมาชื่อเสียง ซึ่งเป็นที่ตั้ง แห่งอคติ อันจัดเป็นการเมา ยิ่งไปกว่า การเมาสุรา หรือเมรัยแล้ว การห้ามผู้อื่นไม่ให้เสพสุราเมรัยของเธอ คงไม่มีประโยชน์อะไร. ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพราะเธอ เห็นแก่ตนเกินไป ไม่เคารพ ต่อหลักอนัตตา ของพระพุทธเจ้านั่นเอง แม้ในศีลธรรม ที่สูงขึ้นไป ตามลำดับ ก็เป็นอย่างเดียวกัน ผู้สอนจงอบรมตนเอง ด้วยหลักอนัตตา แล้วสอนเรื่องหลักอนัตตาเถิด ผู้ฟังจะรับเอาได้สะดวก ความรู้ในศีลธรรม จะแผ่สาขา ออกได้เอง ด้วยหลักนี้ ตามธรรมชาติของจิตใจ คนเราจะดีได้ด้วยใจ อำนาจบังคับ ภายในใจของเขาเอง ที่เกิดจากความเชื่อเลื่อมใส ด้วยความเห็นเองนั้น ดีกว่าา ที่เกิดจากบังคับ ของผู้มีอำนาจภายนอก ที่ทำเพื่อแสวงหาชื่อเสียงใส่ตนเอง เพราะเขาไม่เป็นผู้เคารพต่อหลักอนัตตานั้นจงอบรมหลักอนัตตา ให้แก่มหาชนเถิด! การอบรมนั้น คือ การทำจนเห็นผลอานิสงส์ ให้เขาดูแล้วเขาก็สมัครทำตามเอง!ภิกขุ พุทธทาส อินทปญโญวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๘
คัดจาก หนังสือ ชุมนุม ข้อคิดอิสระ พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น